สมกับสโลแกน “เปลี่ยน เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น…Make THE Difference” ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งธนาคารที่สร้างสีสันให้กับวงการการเงินไทย เพราะมักคิดค้นและออกผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอยู่เสมอ ซึ่งจุดสำคัญที่ TMB ย้ำกับผู้บริโภคทุกคน คือ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยน!
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา TMB ตัดสินใจที่จะ Make THE Difference อีกครั้ง ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปจาก 0.125% ไปเป็น 0.000% ว่ากันง่ายๆ คือ ฝากเงินแล้วไม่ได้ดอกเบี้ย ถือเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ธนาคารไทย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่เป็นคนออมตกอกตกใจ และกังวลว่าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มีโอกาสที่จะติดลบ ซึ่งเมื่อมีธนาคารหนึ่งนำร่องแล้ว ธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตามก็เป็นได้ เป็นไปตามกลไกของตลาด
อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ผู้บริโภคไม่ได้กล้าที่จะเปลี่ยนกับ TMB ช่วงวันที่ 2 เริ่มมีการแชร์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของ TMB อย่างรวดเร็วในกลุ่มสังคมออนไลน์ ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ในวงกว้าง ในภาวะที่ต่างทราบกันดีว่าสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยมีสูง ความจำเป็นในการลดอัตราเงินฝากเพื่ออะไร จะกระทบต่อการออมของผู้บริโภคหรือไม่ หลายคนตั้งคำถามว่า แบบนี้ก็ได้เหรอ บ้างก็ว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้แล้วหรือ
การวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีนี้หนักข้อมากขึ้น จนในวันที่ 3 มิถุนายน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ TMB ได้ให้ความเห็นว่า รู้สึกไม่สบายใจหลังทราบเรื่องการลดดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป จึงสั่งการให้ผู้บริหารมีการประชุมเร่งด่วน ในช่วงเวลา 14.00 น. เพราะไม่ต้องการทำให้เกิดปัญหากับผู้ฝากเงิน ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเรื่องฝ่ายบริหาร ไม่ได้แจ้งให้ทางบอร์ดทราบก่อนแต่อย่างไร และยังได้มีการรายงานเรื่องนี้ไปยัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบด้วย
แหล่งข่าวการเงินอธิบายว่า แต่ละธนาคารอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตลอดเพื่อความเหมาะสม ทั้งในแง่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่หากมีหนึ่งธนาคารปรับเปลี่ยน ธนาคารอื่นในตลาดก็อาจจะพิจารณาในการปรับลดตามเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ทางบอร์ดอาจจะให้อำนาจผู้บริหารสูงสุดเป็นคนพิจารณา ร่วมกับทีมปฏิบัติการ หรือคณะกรรมการตั้งขึ้นมาก็ได้ ตามแต่ธนาคารจะกำหนด ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อสาธารณะได้ อย่างไรก็ดีในแต่ละวันธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะต้องมีการรายงานอัตราดอกเบี้ยให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล รับทราบด้วย
ต่อกรณีนี้ จากการสอบถามไปยังธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ก็ประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงไปที่ 0.000% เพราะมองว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการออม และมีความเป็นห่วงว่าจะมีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หรืออาจจะมีการเก็งกำไรได้ และให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ TMB น่าจะเป็นกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเงินฝาก เนื่องจากสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB ระบุว่า จากการพูดคุยกับทีมบริหาร การลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ลงเป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกิน ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารทหารไทยจะไม่รับเงินฝากใหม่เข้ามา เพราะต้องการลดต้นทุนการเงิน มองว่าเป็นมาตรการระยะสั้น เพราะเมื่อถึงระดับหนึ่งธนาคารบริหารสภาพคล่องได้ดีแล้ว คงปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อระดมเงินฝาก
จากนั้น เวลา 15.30 น. TMB ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.125% เท่าเดิม โดยได้ออกหนังสือชี้แจงว่า เพื่อให้การบริหารจัดการทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า ธนาคารมีบัญชีเพื่อการใช้จ่ายหรือออมทรัพย์ทั่วไปให้ดอกเบี้ยต่ำและไม่มีค่าธรรมเนียม และมีบัญชีเพื่อการออมให้ผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยแก่ลูกค้าเป็นอย่างดี เช่น ทีเอ็มบี โน ฟิกซ์ อัตราดอกเบี้ย 1.4% หรือ ME by TMB อัตราดอกเบี้ย 1.8% เริ่มตั้งแต่ 1 บาทแรก และถอนได้ตลอดเวลา โดยไม่จำกัดระยะเวลาการฝากเงิน เพื่อมุ่งสนับสนุนให้ลูกค้าและประชาชนหันมาบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามหลังจากประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเป็น 0% มีลูกค้าบางส่วนยังไม่พร้อมการบริหารจัดการเงินในแบบธนาคารนำเสนอ
ดังนั้นธนาคารจึงขอปรับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไปกลับมาเป็นอัตราเดิมที่0.125% โดยลูกค้ายังได้รับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559
ทั้งนี้ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยเงินฝากมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งธนาคารมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย หากต้องการใช้สำหรับการทำธุรกรรม สามารถเลือก TMB All Free ธนาคารออกผลิตภัณฑ์นี้มากว่า 4 ปีแล้ว เป็นบัญชีที่ดอกเบี้ย 0.000% แต่ฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่นการโอนเงินข้ามเขต หรือการโอนเงินข้ามธนาคารต้องเสีย 30 บาท แต่บัญชีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและกดเงินฟรีทุกตู้
ส่วนหากต้องการออมทรัพย์สามารถเลือกใช้ TMB Non Fix บัญชีเงินฝากไม่ประจำ อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.4% หรือ Me by TMB อัตราดอกเบี้ย 0.18% ได้ ไม่มีขั้นต่ำ ขณะที่บัญชีออมทรัพย์ทั่วไปของธนาคารอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.125% ฝาก 10,000 บาท ครบปีได้ดอกเบี้ย 12.50 บาท ดังนั้น จะดอกเบี้ย 0.125% หรือ 0.000% ก็ไม่ต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตาม การสื่อสารของธนาคารอาจจะทำให้ผู้บริโภคทั่วไปมีความเข้าใจผิดจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเท่าเดิมที่ 0.125% โดยการปรับเกิดจากความกังวลของธนาคารเองไม่ได้มีคนสั่งการหรือมีประชาชนแห่ถอนเงินออกแต่อย่างไร
ว่ากันตามความเข้าใจTMB มีการใช้ช่องทางดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว ทั้งนี้ต้นทุนการบริหารจัดการโมบายและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งถูกกว่าอยู่ที่ 5 บาทต่อรายการ ส่วนหากไปที่สาขาจะอยู่ที่ 20 บาทต่อรายการ รวมทั้งน่าจะต้องการย้ายฐานลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ที่อัตราดอกเบี้ย 0.125% มีค่าเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท และฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมระหว่างบัญชี TMB ให้เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นของธนาคารก็เป็นได้ อาทิ Me by TMB ซึ่งเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างบัญชี TMB ส่วนต่างธนาคารค่าธรรมเนียม 25-35 บาท, TMB Non Fix ถอนหรือโอนเงินที่สาขาได้ 2 ครั้งต่อเดือน ครั้งถัดไปเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 50 บาท หากใช้ช่องทางดิจิตอล ทั้งโมบายแบงกิ้งและอินเตอร์เน็ต ไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างบัญชีทีเอ็มบี
ส่วน TMB All Free ดอกเบี้ย 0.000% แต่ไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างบัญชี TMB กดเงินสดฟรีทุกตู้ และฟรีโอนเงินต่างธนาคารและจ่ายบิลรวม 5 ครั้งต่อเดือน อย่างไรก็ดี ต้องเปิดคู่กับบัตรเดบิต ทีเอ็มบีออลล์ ฟรี เท่านั้น มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท/ปี ปีต่อไปปีละ 350 บาท หากบัตรหาย บัตรชำรุด หรือทำบัตรใหม่ 350 บาทต่อบัตร เป็นต้น
ดังนั้น ข้อสำคัญในการพิจารณา ควรมีการศึกษาเงื่อนไขอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะจุดที่มีดอกจันกำกับ
เพราะท้ายที่สุดแล้ว …เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
นอกจากนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0.000% สะท้อนว่ามีสภาพคล่องในระบบมากเกินไป จึงกดดันให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะธนาคารไม่ต้องการสภาพคล่องเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนเป็นเหตุผลหลัก ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องระยะสั้น เนื่องจากข้อมูลล่าสุดพบว่าสินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ 1.267 ล้านล้านบาท เงินฝากทั้งระบบอยู่ที่ 1.159 ล้านล้านบาท สภาพคล่องทั้งระบบอาจมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไปเมื่อการลงทุนฟื้นตัว โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเริ่มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 108-110 แล้ว แต่ยังถือว่าต่ำหากเทียบกับช่วงปี 2554-2555 ที่สูงถึง 120-130 ซึ่งล่าสุด TMB ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ระดับเดิม น่าจะเป็นเพราะความกังวลกระแสวิพากษ์วิจารณ์
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติในฐานะผู้กำหนดนโยบายการเงินต้องติดตามและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรป หากมีการดำเนินนโยบายแบบนี้ไปนานจะส่งผลอย่างไรต่อระบบการเงินโลก ต่อตลาดการเงินต่ออุตสาหกรรมการเงินการธนาคารไทย และเตรียมมาตรการรับมือ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ น่าจะส่งผลกดดันให้เงินบาทอ่อนมากขึ้น
หากสินเชื่อไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การลงทุนเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดีนักในช่วงครึ่งปีหลังและสภาพคล่องในระบบการเงินยังสูงมาก มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0% ก็เป็นได้ ซึ่งจะมีผลต่อตลาดเงินฝากมากหากเป็นการตัดสินใจลดของธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนธนาคารของรัฐคงไม่ลดเพราะคงต้องทำตาม
นโยบายของรัฐในการดูแลผู้ฝากเงิน แต่ภาวะที่อาจเกิดขึ้น ก็คือจะมีการไหลออกของเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ไปสู่ธนาคารของรัฐมากขึ้นหรือไหลออกมาลงทุนในตลาดกองทุนรวม ตลาดหุ้นมากขึ้นสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติกังวลและติดตามมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะอาจจะส่งผลกระทบในแง่การออม รวมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้
การเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยเงินฝากหลังจากนี้ ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม เพราะการลดลงในแง่ตัวเลขอาจไม่กระทบมากนัก แต่ในแง่จิตใจ เรียกว่ามีผลกระทบต่อคนออมพอสมควร ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการออมในอนาคตได้
เพราะคำว่ามีดอกเบี้ย กับไม่มีดอกเบี้ย ความรู้สึกแตกต่างกันมหาศาลทีเดียว…
ขอบคุณข้อมูลและภาพ:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.