ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสลงไปสำรวจพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง จากการพูดคุยกับผู้บริหารหน่วยราชการ และภาคเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ เรามักได้ยินคำถามเหมือนกันว่า “คนระยองจะได้รับประโยชน์อะไรจากนโยบาย EEC ของรัฐบาล”
ที่ชัดเจนวันนี้ “คนระยอง” กำลังลุกขึ้น “ทวงคืนความเป็นธรรม” หลังจากรัฐบาลได้ประกาศ TOR รถไฟความเร็วสูง แล้วตัดสถานีที่ 10 อ.เมืองระยองทิ้งไป ทั้งที่อยู่ในแผนมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้รวบรวมคนในพื้นที่ได้ 10,000 รายชื่อ และยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ขอให้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีระยอง กลับคืนมา
โดย นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง บอกว่า ถ้าไปอยู่ในเฟส 2 จะเกิดยาก ระยองเป็น 1 ในจังหวัด EEC แต่ไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ต้องเตรียมรับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาเพิ่มเกือบ 1,000 โรงงาน จะมีคนเข้ามาอยู่เพิ่มเป็นล้านคน ที่ผ่านมาระยองมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุเคยติดอันดับ 1 ของประเทศ มีผู้พิการจากอุบัติเหตุปีละ 800 คน แสดงว่าการคมนาคมไม่ดี การมีรถไฟความเร็วสูง เพื่อคุณภาพชีวิต และความเจริญเติบโตของเมืองจะเติบโตเป็นวงกว้างกระจายออกไปในรัศมี 10 กม.จากสถานี
“ปัจจุบันการลงทุนชะงักงัน จากที่ก่อนหน้าการซื้อขายที่ดินมีอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการเริ่มไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้อนาคต ทำให้ระยองเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจ วันนี้ smart city ของระยองอยู่ตรงไหนไม่มีความชัดเจน”
เหตุผลการตัดสถานีระยอง บอกว่า เส้นทางผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ใช้เวลาถึง 2 ปี จึงตัดไปก่อน เพราะหากมีการเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ไม่แน่ใจว่า โครงการจะเกิดหรือไม่ จึงคิดว่าให้เฟสแรกเกิดก่อน
ส่วนเฟส 2 จากอู่ตะเภาไประยอง-จันทบุรี-ตราดค่อยว่ากัน พร้อมบอกว่า ให้เฟสแรกเสร็จ 1 ปี แล้วทำ EIA 1 ปี พูดง่าย ๆ อีก 6 ปีถึงจะเริ่มทำเฟส 2 ซึ่งไม่เห็นอนาคต จึงบอกว่าวันนี้คนระยองเสนอให้นำสถานีระยอง 40 กม.ไปอยู่ในเฟส 1/1 และศึกษา EIA ตั้งแต่วันนี้เริ่มทำคู่ขนานกันไปกับเฟส 1
ด้าน นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง บอกว่า การก่อสร้างเฟส 1 รัฐบาลมีปัจจัยหลักที่ดึงดูดคนมาลงทุน คือ การพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน มูลค่าเป็นแสนล้านบาท รวมถึงที่ดินบริเวณสถานีศรีราชา แต่เฟส 2 จากระยองไปจันทบุรีและตราด จะมีผลประโยชน์อะไรจูงใจพอในการเชิญชวนเอกชนมาลงทุน กรณีที่อ้างว่า EIA ไม่ผ่าน เพราะต้องวิ่งผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขอถามว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วิ่งบรรทุกขนส่งน้ำมัน-แก๊ส อันตรายยิ่งกว่ารถไฟความเร็วสูงหรือไม่ และถ้าอันตรายพวกเราจะอยู่มาได้อย่างไร
ขณะที่ นางรฎาศิริ ศิริคช เครือข่ายกลุ่มพ่อแม่ระยองพันธุ์ใหม่ บอกว่า คนระยองไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถูกกำหนดให้เป็น “อีสเทิร์นซีบอร์ด” มีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก โรงงานปิโตรเคมี โรงงานแทนทาลัมที่ถูกเผาไล่ที่จาก จ.ภูเก็ตก็มาลงที่ จ.ระยอง ที่ผ่านมาคนระยองได้อะไร คนที่หลั่งไหลเข้ามาทำงาน มาแย่งระบบสาธารณูปโภคที่มีอย่างจำกัด คุณภาพชีวิตไม่ดี อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งสูง เด็กเกิดใหม่เกิน 50% เป็นโรคภูมิแพ้ คนระยองแบกรับปัญหาเหล่านี้มานาน ตอนนี้กำหนดให้เป็น EEC แต่พอเปิดโครงการเหมือนดับฝันคนระยอง จึงต้องออกมาปกป้องสิทธิ์
ส่วน นายดำริ ดวงนภา ผู้สอบบัญชีอิสระ บอกว่า การตัดสถานีระยอง เพราะต้องศึกษา EIA ถือเป็นเหตุผลขัดแย้งกันเอง เพราะรถไฟความเร็วสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบป้องกันอย่างดี ช่วงที่ทำแผนไม่เคยพูดเรื่องติด EIA ที่ผ่านมาคนระยองทนอยู่กับมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมหนักมากว่า 30 ปี อยู่ ๆ รัฐบาลบอกต่อไปจะมีรถไฟความเร็วสูงมาจะทำให้การจราจรลดความแออัด แล้วมาตัดทิ้งไป อันนี้เหมือนฟางเส้นสุดท้าย
แม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยองเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.ระยอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติสนับสนุนข้อเสนอของนายคณิศ ที่ “ยอมเปลี่ยน” สถานีระยองจากที่อยู่ในเฟส 2 เป็น “โครงการเฟสที่ 1 ระยะที่ 2”
แต่จะเปิดใช้บริการหลังจากเฟส 1 ระยะที่ 1 (รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) เสร็จ 1 ปี โดยจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีนายกฯเป็นประธานในเร็ว ๆ นี้
แต่เบื้องลึกแล้วคนระยองยังหวั่นว่า แม้ที่ประชุม กพอ.จะรับทราบ การเปลี่ยนสถานีระยองมาอยู่เฟสที่ 1 ระยะที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ “ไม่มีหลักประกัน” ว่า สถานีระยองจะเกิดขึ้น เพราะ “บทเรียนประเทศไทย” ที่ผ่านมา แม้เรื่องที่ผ่านมติ ครม.แล้ว ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ ดังที่เห็น “เสาต่อม่อ” ! ปรากฏต่อสายตา ! ให้ปวดร้าวใจ ! ในหลายโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ผ่านมา
เชื่อแน่ว่า อนาคต 5 ปีนับจากนี้ คนรุ่นใหม่ในระยองคงไม่นิ่งเฉย เพื่อรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์แน่นอน !
ขอบคุณข้อมูล : prachachat