“ไทยซัมมิท” ใช้ EEC ต่อยอดธุรกิจ ผุดสปอร์ตคอมเพล็กซ์ 450 ล้านที่ศรีราชา IRPC ประกาศหาผู้ร่วมพัฒนานิคมอุตฯบ้านค่าย เผยยอดขอ BOI พุ่งเป็นอันดับ 2 รองภาคกลาง ขณะที่จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก 4 เดือนแรกพุ่ง 2,244 บริษัท
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในหมู่นักธุรกิจ-นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศโดยรัฐบาลประกาศโครงการเร่งด่วน3โครงการ ประกอบด้วยการพัฒนารถไฟความเร็วสูง-การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและการซ่อมบำรุงอากาศยาน
ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ดิจิทัล-การแพทย์-ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์-ระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์-อากาศยาน-อุตสาหกรรมการเกษตร-เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์โทรคมนาคม-ยานยนต์/ชิ้นส่วน-ท่องเที่ยว-สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดส่งผลให้ภาคธุรกิจ-บริการให้พื้นที่ภาคตะวันออกขยายตัวรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ขอBOIอันดับ2
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2560) ในพื้นที่ภาคตะวันออก ปรากฏมีจำนวนโครงการ 76 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 19,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 72 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 39,070 ล้านบาท หรือจำนวนโครงการขยายตัว 6% แต่ในแง่มูลค่าลดลง 50%
อย่างไรก็ตาม จำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งคลุมไปถึง 3 จังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่ตั้งโครงการจะพบว่ามีจำนวนคำขอมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากพื้นที่ภาคกลาง แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมุ่งที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแล้ว โดยตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปี 2559 ในภาคตะวันออก ปรากฏมีโครงการ 377 โครงการ เงินลงทุน 270,310 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 มีจำนวนโครงการ 261 โครงการ เงินลงทุน 72,060 ล้านบาท หรือขยายตัวทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนร้อยละ 44 และร้อยละ 275 ตามลำดับ
โดยการขยายตัวดังกล่าวสอดคล้องกับการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ในช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2560) ปรากฏมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่รวมทั้งสิ้นถึง 2,244 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดการจดทะเบียนจำนวน 2,125 บริษัท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 1,595 บริษัท, จังหวัดระยอง 492 บริษัท และ จังหวัดฉะเชิงเทรา 157 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง/รับเหมาก่อสร้าง, บริษัทชิปปิ้ง, ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์, นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, อพาร์ตเมนต์, วางระบบไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, ร้านอาหาร, ค้าปลีก-ค้าส่ง, โรงงานชิ้นส่วน-ประกอบเครื่องจักร รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย
ผุดสปอร์ตคอมเพล็กซ์
นางรุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหาร บริษัทพัฒนาสปอร์ต คลับ (จำกัด) ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของไทยซัมมิท กรุ๊ป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกได้ขยายตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง-เหมราช และอีสเทิร์นซีบอร์ด ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างถนน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง โครงการสร้างทางยกระดับภาคตะวันออก การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ล่าสุด บอร์ดของไทยซัมมิท กรุ๊ป ได้อนุมัติให้มีการลงทุนพัฒนาต่อยอดสนามกอล์ฟเดิม “พัฒนา กอล์ฟ คลับ แอนด์ รีสอร์ท” อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำเป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์และโซนกีฬากลางแจ้ง โดยจะใช้พื้นที่เพิ่มอีก 1,200ไร่ งบประมาณเริ่มต้น 450 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาที่ดินของบริษัทพัฒนา สปอร์ต คลับ (จำกัด) ซึ่งมีอยู่แล้วรอบ ๆ สนามกอล์ฟเดิม โดยมุ่งไปทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา จะทำสเกลแบบครบวงจร โดยการมุ่งมาทำธุรกิจด้านกีฬา เนื่องจากเห็นการเติบโตของภาคธุรกิจทางด้านนี้มาอย่างชัดเจน ตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงได้ศึกษาและพัฒนาตัวเองมาจับตลาดสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง เพราะตลาดกอล์ฟอย่างเดียวไม่สามารถมีอัตราการเข้าพักหรือใช้บริการของลูกค้าได้มากพอและตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ไม่เต็มที่
“สปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่จะต่อยอดสร้างเพิ่มเติมจะมีตั้งแต่โรงแรมวิลล่าแมนชั่นและโซนพื้นที่ห้องจัดประชุมสัมมนาหรือกิจกรรมกลางแจ้งด้วย ซึ่งจะมีทั้งหมด 222 ยูนิต โดยโซนห้องจัดประชุมสัมมนาสามารถรองรับคนได้ 500-1,000 คน โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส เฟสแรกเริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน หรือราว ๆ ไตรมาส 4 ของปีนี้ หรืออย่างช้าไตรมาส 1 ของปีหน้า (2561) ส่วนเฟส 2 ก็จะเริ่มภายใน 5 ปีหลังจากนั้น” นางรุจิรพรรณกล่าว
ทั้งนี้ ในเฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างฟิตเนสเซ็นเตอร์, สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 2 สนาม, สนามฟุตซอล 1 สนาม, เลนจักรยาน เลนวิ่ง สระว่ายน้ำ และพื้นที่มิกซ์ยูส มีร้านอาหารเพิ่มเติมภายใน และโซนแอดเวนเจอร์
IRPC หาผู้พัฒนานิคมบ้านค่าย
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ได้ประกาศขายหรือหาผู้ร่วมทุนเพื่อพัฒนาที่ดินเปล่าในโครงการนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) จำนวน 2,037 ไร่ โดยบริษัท IRPC แจ้งว่า เป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินดังกล่าว ปัจจุบัน IRPC ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีอยู่ที่จังหวัดระยอง ในอนาคตยังเตรียมที่จะขยายธุรกิจสีเขียวในกลุ่มไบโอพลาสติกด้วย
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.