นายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน กลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาโปรแกรมการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ โดยในโปรแกรมจะมีหลักเกณฑ์การพิสูจน์ตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer : E-KYC) ในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่ขอสินเชื่อมีตัวตนถูกต้องจริง และไม่ได้ถูกขโมยข้อมูลมาใช้ในการขอสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่าจะพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จในต้นปีླྀ และสามารถเปิดให้บริการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ในไตรมาสแรกปีหน้าเป็นต้นไป โดยเบื้องต้นจะนำร่องที่สินเชื่อบุคคล หลังจากนั้นจะทยอยใช้กับสินเชื่อประเภทอื่นต่อไป
“เบื้องต้นที่เป็นปัญหาขณะนี้ทุกแบงก์คือ ระบบ KYC ว่าเราจะเอาระบบดังกล่าวมาใช้อย่างไร เพื่อให้การพิสูจน์ตัวตนมีประสิทธิภาพ และให้แน่ใจว่าถูกคน ไม่ใช่คนอื่นใช้ข้อมูลทุจริตมา ดังนั้นแบงก์จะต้องทำระบบนี้ให้ดี โดยจะใส่ระบบพิสูจน์ตัวตนนี้เข้ามาในโปรแกรมของธนาคารด้วย ส่วนวิธีการยืนยันตัวตนนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แบงก์ก็ต้องเลือกที่ปลอดภัยและพิสูจน์ตัวตนได้มากที่สุด ซึ่งอนาคตหากระบบนี้เสร็จ ธนาคารก็อาจออกเป็นแอปพลิเคชั่นแยกออกต่างหากเพื่อมารองรับการขอสินเชื่อออนไลน์ในอนาคต” นายลือชัยกล่าว
นายซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ในปี 2560 ธนาคารจะเปิดบริการให้ขอสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ และจะสามารถทราบผลอนุมัติผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที หากผู้สมัครยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ครบถ้วน ซึ่งธนาคารจะใช้กับสินเชื่อทุกประเภท
ส่วนการพิสูจน์ตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ธนาคารสามารถจะใช้บริการด้วยเสียง (Voice Biometric) ผ่านช่องทางคอลเซ็นเตอร์เป็นวิธีหนึ่งพิสูจน์ตัวตนได้ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลจากเครดิตบูโร เพื่อนำมาใช้ในการอนุมัติสินเชื่อในอนาคต ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น
“ปัจจุบันในต่างประเทศที่มีการขอสินเชื่อออนไลน์แล้วอนุมัติได้เลยคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และอินเดีย แต่ไทยยังไม่มี ปัจจุบันการขอสินเชื่อยังต้องให้ลูกค้าลงทะเบียนได้ในระบบออนไลน์เท่านั้น แล้วก็จะมีพนักงานธนาคารโทร.ไปหาแบบออฟไลน์ แล้วเราค่อยอนุมัติ ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราคือ ยังเป็นทุกกลุ่มอายุ” นายซานดีพกล่าว
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าธนาคารจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “การขอสินเชื่อออนไลน์” ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) โดยจะให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้าเก่าที่มีบัญชีเงินฝาก และใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งกับธนาคาร เพราะมีการระบุตัวตนไว้อยู่แล้ว หลังจากนั้นจะเปิดใช้กับกลุ่มลูกค้าอื่นเพิ่มเติม
“e-Application ตัวนี้ จะสามารถสแกนเอกสารประกอบการขอสินเชื่อทั้งบัตรเครดิตและพีโลนได้ จากนั้นจะส่งเข้าระบบของธนาคารและมีการเชื่อมโยงกับการตรวจสอบของเครดิตบูโร ลูกค้าจะรู้ผลการอนุมัติได้ทันทีภายในครึ่งชั่วโมง ส่วนกรณีสินเชื่อที่มีหลักประกันที่จะอนุมัติผ่านออนไลน์ จะทำยากกว่า เพราะจะมีรายละเอียดเยอะ เช่น การประเมินหลักทรัพย์ที่ต้องศึกษาว่าจะทำอย่างไร” นายฐากรกล่าว
ทั้งนี้ การให้บริการผ่าน “อีแอปพลิเคชั่น” จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารถึง 30% และทำให้ใช้เวลาดำเนินการสั้นลงมาก เพราะลดขั้นตอนการส่งเอกสารตั้งแต่ลูกค้า ส่งถึงมือพนักงาน และส่งเข้าบริษัท รวมไปถึงส่งตรวจสอบที่เครดิต บูโรด้วย
ด้านนางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอนุมัติสินเชื่อผ่านทางออนไลน์ จะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการให้สินเชื่อ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด และส่วนที่ธนาคารพาณิชย์นำเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องมาขออนุญาตกับทาง ธปท.เป็นรายกรณีไป ซึ่งการให้อนุญาตแต่ละรายก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเทคโนโลยีนั้น ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.