หอการค้ารวมพลังบุกคลังหาข้อยุติปมร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หวั่นกระทบธุรกิจ อ้างร้านค้า ปั๊มนํ้ามัน โรงงาน ที่พักอาศัย บ้านหลังที่ 2-3 ป่วนธุรกิจอสังหาฯ จัดเวทีให้ตัวแทนคลังชี้แจงปลายเดือนนี้ ก่อนสรุปผลให้ สนช.แก้ไขก่อนคลอดบังคับใช้
จากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กันยายน 2560 และจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2562 ต่อไปนั้น
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ในฐานะกรรมการบริหาร และประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือแจ้งสมาชิกกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อให้ตอบคำถาม และแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ส่งกลับภายใน วันที่ 18 สิงหาคมนี้ เพื่อจะได้รวบรวมเสนอคณะกรรมการบริหารของสภาหอการค้าฯ และส่งต่อให้รัฐบาล
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
เบื้องต้นมีหลายประเด็นจากร่างกฎหมายนี้ ที่จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างแน่นอน เช่น ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่เดิมไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่ตามพ.ร.บ.นี้จะต้องเสียภาษีในอัตรา 2% ของมูลค่าทรัพย์สิน อาทิ มีทรัพย์สินถูกตีมูลค่า 4 ล้านบาท อัตราภาษี 2% จะต้องเสียถึง 8 หมื่นบาท/ปี
กรณีสถานีบริการนํ้ามัน ในกรุงเทพฯ หรือตัวเมืองต่างจังหวัด ที่ราคาประเมินที่ดินปรับตัวขึ้นสูง เช่น ถูกประเมินทรัพย์สินรวมที่ดิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีปีละ 2 ล้านบาท อาจอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับโรงงาน ถ้ามีเครื่องจักรทันสมัยมูลค่ารวมกัน 500-600 ล้านบาท ก็ต้องแบกภาระภาษีตัวนี้ปีละ10-12 ล้านบาท รวมถึงบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 เพื่อลงทุนหรือเป็นบ้านพักผ่อน คนจะชะลอซื้อ หรือที่มีอยู่ก็เร่งขายออกจนกระทบการขายบ้านใหม่ หรือที่ดินรกร้างที่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าปีที่ 1-3 ในอัตรา 2 % และปรับขึ้น 0.5 % ในทุก 3 ปี บีบให้เจ้าของเร่งทำประโยชน์ ปลูกพืชผลต่าง ๆ จนผลผลิตล้นตลาด มีปัญหาราคาตกอีก
นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯใหม่จะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม ทำให้สถานประกอบการมีภาระภาษีสูงขึ้น จากเดิมเสียภาษีโรงเรือนปีละ 2 พันบาท แต่ภาระภาษีตามร่างกฎหมายใหม่อาจเสียเพิ่มเป็น 10,000-100,000 บาท ตามราคาประเมินที่ดิน
ธุรกิจในห้องแถว อาคารพาณิชย์ ที่เป็นเอสเอ็มอีในย่านการค้าของแต่ละจังหวัด จะได้ผลกระทบมาก จากที่เจอเศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้ว ต้องมา เจอภาระจากกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ซํ้าเติมอีก ก็ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มสูงขึ้นได้ต่อไป ทางหอการค้าไทยจึงติดต่อกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศเพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอ ข้อสังเกตของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะหาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการมาร่วมประชุมหาทางออกที่เหมาะสม ต่อไป
“อย่างสถานีบริการนํ้ามันย่านการค้าตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งปกติใช้ที่ดินมากกว่า 1 ไร่ขึ้นไป หากมีการประเมินราคาที่ดินไร่ละ 13-15 ล้านบาท มีที่ดิน 3 ไร่ ประเมินราคารวม 40-50 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีแต่ละปีนับล้านบาท อาจต้องย้ายไปอยู่นอกเขตเมือง ผู้บริโภคเดือดร้อนอีก”
นายอธิป กล่าวด้วยว่า กรณีตัวอย่างต่างๆ จะถูกหยิบมาหารือในเวทีสัมมนาเรื่อง “เจาะลึกกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ จัดโดยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร โดยเชิญตัวแทนกระทรวงการคลังมาบรรยายพิเศษ เจาะลึกร่างพ.ร.บ.ฯ เงื่อนไข ข้อยกเว้น การลดหย่อน ขั้นตอน กระบวนการประเมิน การเรียกเก็บและการชำระภาษี และมีศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด บรรยายพิเศษ “กลยุทธ์รับมือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
“จะรวบรวมความเห็นจากการสัมมนาในครั้งนี้เสนอรัฐบาลต่อไป ในเบื้องต้นเราเห็นด้วยในหลักการของการเก็บภาษีเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ในการพัฒนาท้องถิ่น แต่คนจ่ายภาษีก็ต้องอยู่ได้ด้วยโดยต้องไม่กระทบมาก”
ขอบคุณข้อมูล thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.