กว่า 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด นำมาซึ่งความเจริญเติบโตอย่างมาก เป็นยุคของเศรษฐกิจที่เรียกว่าโชติช่วงชัชวาล
และเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกคือแหล่งฐานการผลิตที่สำคัญทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ตะวันออกถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งในชื่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ “Eastern Economics Corridor Develop-ment-EEC” เป้าหมายจะเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของไทย โดยเน้นการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง
วันนี้นโยบายต่าง ๆ จึงประเดประดังไปที่ภาคตะวันออก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพื้นที่มีส่วนได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ประชาชาติธุรกิจได้ไปพูดคุยกับ “จินดา ถนอมรอด” นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง ถึงแหลมฉบังวันนี้
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบังบอกว่า ปัจจุบันเทศบาลนครแหลมฉบังมีพื้นที่รับผิดชอบ 109 ตารางกิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 200 บริษัท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ส่วนมากเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และมีอุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ โรงกลั่นน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน บริษัท ไทยลูบเบส จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บน้ำมันปิโตรเลียม 3 แห่ง คือ คลังเก็บน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บก๊าซ LPG ซึ่งเป็นก๊าซหุงต้ม 3 แห่ง คือ คลังเก็บก๊าซ LPG ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซj ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นอกจากอุตสาหกรรมแล้ว ธุรกิจรองลงมา ได้แก่ การพาณิชยกรรมและการขนส่ง ซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากอุตสาหกรรม
“แหลมฉบัง คือ ประตูทางเข้า-ออกของการขนส่งด้านโลจิสติกส์ สินค้าส่วนใหญ่ก็จะนำเข้านำออกตรงท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นแหลมฉบังก็ถือว่าเป็นฮับโลจิสติกส์ ซึ่งการเจริญเติบโตในทิศทางนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เทศบาลจึงได้เสนอเรื่องขอเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลนคร เป็นเมืองพิเศษด้านโลจิสติกส์ และด้านท่าเรือ เพื่อความสะดวกในการพัฒนาเมือง แต่วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า”
จินดาบอกว่า ปัญหาอุปสรรคการพัฒนาพื้นที่ คือ เมืองโตเร็วมาก แต่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดการ เมื่อมีการร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ จะต้องส่งต่อไปที่ส่วนกลางหมด เช่น เมื่อได้รับการร้องเรียนเรื่องมลพิษ ท้องถิ่นไม่สามารถไปบังคับโรงงานได้ ต้องส่งเรื่องไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม กว่าจะลงมาตรวจสอบ ทำให้การทำงานล่าช้า เมืองไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากติดขัดเรื่องระเบียบต่าง ๆ
นอกจากนั้นยังมองว่าการเติบโตทุกวันนี้ ท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไหร่ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ที่วิ่งผ่านมาในเมืองแหลมฉบัง ไปจ่ายค่าธรรมเนียมที่ท่าเรือเท่านั้น ทั้งที่รถวิ่งในพื้นที่ ใช้ถนนของเทศบาล แถมยังมีขยะทิ้งไว้ ซึ่งทุกวันนี้เทศบาลนครแหลมฉบังมีขยะวันละ 500 ตัน ต้องกำจัดทุกวัน โดยขนไปฝังกลบที่บ่อขยะ ที่เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ที่ทำรองรับไว้ตั้งแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และขณะนี้มีแนวคิดเรื่องโครงการปรับปรุงบ่อขยะไว้ด้วย มองการลงทุนทำเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า
แต่ด้วยงบประมาณที่มีปีละ 1,140 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นรายจ่ายประจำประมาณ 900 กว่าล้านบาท เหลือเพียง 100 กว่าล้านบาท ที่ต้องนำไปดูแลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้องชาวบ้าน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การพัฒนาเมืองไม่เป็นไปตามเป้าหมายนัก
สำหรับเทศบาลนครแหลมฉบัง มีงบประมาณรายรับและรายจ่าย ในการบริหารจัดการ ดังนี้ ปีงบประมาณ 2550 รายรับจริง 584 ล้านบาท รายจ่ายจริง 466 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2551 รายรับจริง 577 ล้านบาท รายจ่ายจริง 498 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2552 รายรับจริง 603 ล้านบาท รายจ่ายจริง 486 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2553 รายรับจริง 859 ล้านบาท รายจ่ายจริง 530 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2554 รายรับจริง 683 ล้านบาท รายจ่ายจริง 622 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2555 รายรับจริง 918 ล้านบาท รายจ่ายจริง 678 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 รายรับจริง 945 ล้านบาท รายจ่ายจริง 874 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 รายรับจริง 900 ล้านบาท รายจ่ายจริง 872 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 รายรับจริง 1,198 ล้านบาท รายจ่ายจริง 1,012 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 รายรับจริง 1,198 ล้านบาท
เมื่อถามว่าการพัฒนาที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบังกล่าวว่า ปัญหาที่พบขณะนี้คือ รถเทรลเลอร์ที่วิ่งเข้าออกในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมาจอดบนถนนในพื้นที่เขตเทศบาล เพื่อรอข้ามถนนสุขุมวิทไปที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมาจอดบนถนนจำนวนมาก วันหนึ่งเป็นพันเที่ยว ทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องร้องเรียนเข้ามา ซึ่งตรงนี้เราไม่มีอำนาจแก้ไข ต้องให้ตำรวจมาช่วยซึ่งกำลังก็ไม่เพียงพอ ทั้งที่จริงนิคมต้องจัดโซนที่พักรถให้เพียงพอ ซึ่งในครั้งแรกที่มีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ได้มีการนำแผนมาให้ชาวบ้านดู ตอนนั้นมีระบุที่พักรถชัดเจน แต่ปัจจุบันกลับนำไปทำกิจการอื่น ทำให้รถต้องมาจอดกันเต็มพื้นที่เทศบาล สร้างความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครแหลมฉบังมีแนวทางในการพัฒนาเมือง คือ การเตรียมปรับผังเมืองใหม่ โดยจะยื่นขอแก้กฎกระทรวงฉบับที่ 32 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ต้องมีการเว้นระยะ 15 เมตรจากถนน ซึ่งทำให้ไม่สามารถลงทุนอะไรได้ แต่เมืองต้องโตมากกว่านี้ คาดว่าจะร่นระยะเหลือที่ 6 เมตร
“ประชากรตามทะเบียนบ้าน เรามีเพียง 8 หมื่นคน แต่ที่อยู่อาศัยจริงมีมากกว่า 2 แสนคน เป็นกลุ่มที่มาทำงาน และมาประกอบธุรกิจ มาค้าขาย ทำพาณิชย์บ้าง ทำงานในโรงงานหรือท่าเรือบ้าง เป็นอาชีพหลากหลาย เมืองก็ต้องเติบโตตามทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการพาณิชย์ โดยเฉพาะคอนโดฯทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างขออนุญาตรวมแล้วเกือบ 100 แห่ง ขณะที่ผังเมืองเราตรงกลางเมืองเป็นพื้นที่สีแดง คือ เมืองพาณิชยกรรม ดังนั้นต้องมีตึกรามสูงตอบสนองการเติบโตของเมือง แต่ยังติดกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับแก้”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่แฝงมา เราก็ต้องดูแล จำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสีย น้ำดี ปัญหาการจราจร ฝุ่นละออง เรื่องเสียง เป็นต้น
แน่นอนว่าความเจริญย่อมมาพร้อมกับปัญหา และอุปสรรค เพียงแต่สิ่งที่ภาครัฐต้องตระหนัก คือ เมื่อรับรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงแล้ว ควรนำไปปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง และจริงใจ เพราะความเจริญที่ควบคู่ไปทั้งเศรษฐกิจ และสังคม หมายถึงความเจริญอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก : Prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.