นายกสมาคมอาคารชุดไทย ส่งสัญญาณเตือนอสังหาฯ ส่อวิกฤติไตรมาสแรกปี 2567 พบว่าตลาดอสังหาฯ มียอดขายติดลบ 25-30% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตลาดทาวน์เฮ้าส์ ยอดต่ำสุดในรอบ 12 ปี ยอดโอนติดลบยกแผง เล็งถกภาครัฐปลดล็อกข้อจำกัดอสังหาฯ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ผ่า…ปมร้อนอสังหาริมทรัพย์ ครึ่งหลังไปทางไหน?” ว่า ไตรมาสแรกปี 2567 พบว่าตลาดอสังหาฯ มียอดขายติดลบ 25-30% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตลาดทาวน์เฮ้าส์ ยอดต่ำสุดในรอบ 12 ปีนับจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 ขณะที่ยอดโอนก็ติดลบทุกตลาด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อคนไทยอ่อนเแอ
ขณะที่ตลาดต่างชาติ ที่ซื้อถูกต้องตามกฎหมาย ไตรมาสแรกโต 10% ปีต่อปีตัวเลขโอนคอนโดมิเนียมต่างชาติโต 5% โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เป็นหลัก ซึ่งดีมานด์ตลาดต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เมียนมา ไต้หวัน รัสเซีย ฯลฯ โดยเฉพาะเมียนมามีจำนวนเพิ่มขึ้น 300% หลังจากเกิดปัญหาภายในประเทศ
“อสังหาริมทรัพย์ไทย ถือเป็น โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ ที่ต่างชาติมองว่ามีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนเป็นมิตร ทำให้ที่ผ่านมา 25% ของมูลค่าตลาดอสังหาฯ 1 ล้านล้านบาท เป็นต่างชาติเข้ามาซื้อ ซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านตากอากาศ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการใช้ภาคอสังหาฯ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจากการท่องเที่ยว จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจัดระเบียบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
นายประเสริฐ ระบุว่า อสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ รองจากท่องเที่ยว จึงควรพัฒนาโมเดลแบบสิงคโปร์ ตะวันออกกลางในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่แบบ MAN MADE เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างแรงดึงดูดในการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งด้วยภูมิประเทศไทยเชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ได้
สำหรับข้อเสนอมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการระงับการใช้มาตรการแอลทีวีเป็นการชั่วคราวแบบปีต่อปี และหลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจปกติจึงปรับเกณฑ์มาตรการแอลทีวีใช้สำหรับบ้านหลังที่ 3 ของคนไทย ในตลาดระดับกลางล่าง ขณะเดียวกันผลักดัน และปรับเกณฑ์การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 69%เป็นภาคสมัครใจในอาคารชุดที่ถือครองต่างชาติเต็ม 49% ส่วนข้อเสนอในระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้อยู่ในระบบ และถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยคนที่อยากมีบ้าน
“คาดว่าใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการปรึกษากับสมาคมบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยก่อนที่จะนำเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้อสังหาฯ เป็นส่วนหนึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับมาอีกครั้ง “