กองทุนอสังหาริมทรัพย์ราคาร่วงหนัก เหตุนักลงทุนกระหน่ำเทขาย หวั่นรัฐเลิกยกเว้นภาษีฉุดผลตอบแทนลดลง ด้านนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ประเมินราคาหน่วยลงทุนดิ่งลงแรงจนน่าสนใจ หวังยีลด์ขยับสูงขึ้นจากเฉลี่ยระดับ 6% ต่อปี ฟาก บลจ.กรุงไทย ยอมรับต้นทุนกองทุนเพิ่ม อาจฉุดกำไรผู้ถือหน่วยลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า การเคลื่อนไหวของราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (30 ธ.ค. 2559-23 มิ.ย. 2560) ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยกองทุนที่ราคาหน่วยลงทุนปรับตัวลดลงมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเหมราชอินดัสเตรียล (HPF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี.พี.ทาวเวอร์ โกรท (CPTGF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นิชดาธานี 2 (MNIT2) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอราวัณ โฮเทล โกรท (ERWPF)
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ประกาศเลิกมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับสินทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยการเลิกยกเว้นภาษีของกองทุนอสังหาฯนั้นจะส่งผลให้กองทุนอสังหาฯต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมและภาษีใน3ส่วนอาทิภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), อากรแสตมป์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ในส่วนของภาษีนิติบุคคลยังคงได้รับการยกเว้นเช่นเดิม
นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันราคาหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาฯปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยขายออกมาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. จนถึงเดือน มิ.ย. ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อกรณีการเลิกมาตรการยกเว้นภาษี ประกอบกับราคาหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาฯได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้าง
อย่างไรก็ตาม ราคาหน่วยลงทุนที่ร่วงอย่างมากถือเป็นระดับที่น่าสนใจกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง เพราะอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของการลงทุนในกองทุนอสังหาฯยังคงสูงกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยยีลด์ของกองทุนอสังหาฯตามปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6% ต่อปี ขณะที่ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.4%
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) มีจำนวน 53 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 291,217 ล้านบาท (ณ 30 เม.ย. 60) โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีขนาดกองทุนรวมอสังหาฯมากสุด3 อันดับแรก ได้แก่ 1.บลจ.กรุงไทย โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ราว 123,277 ล้านบาท รองลงมา คือ บลจ.ไทยพาณิชย์อยู่ที่ 55,806 ล้านบาท และ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 25,454 ล้านบาท
สำหรับปัจจุบันยีลด์กลุ่มกองทุนอสังหาฯเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7% ต่อปี ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลเลิกมาตรการยกเว้นภาษี จะทำให้กองทุนอสังหาฯมีต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิ และอัตราการจ่ายเงินปันผลด้วย ส่วนประเด็นการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นหลักที่มีผลกระทบต่อความน่าสนใจของกองทุนอสังหาฯ
“แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ ประเด็นที่ว่าความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะยังอยู่
ในระดับที่ดีต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงมูลค่าของหน่วยลงทุนที่ได้ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” นายกิตติคุณกล่าว
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย กล่าวยอมรับว่าการกลับมาเก็บภาษีน่าจะส่งผลให้ต้นทุนของกองทุนเพิ่มขึ้น และอาจฉุดให้ยีลด์ปรับตัวลดลงได้ ซึ่งคาดว่าจะประเมินผลกระทบได้หลังจากครบงวดเดือน มิ.ย.นี้
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประเภทกองดังกล่าวอยู่ราว 200,000 ล้านบาท แต่จะลดลงเหลือประมาณ 120,000 ล้านบาท เพราะกองทุนอสังหาฯของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี จำนวน 3 กองมูลค่ารวม 80,000 ล้านบาท ที่กำลังดำเนินการปิดกองอยู่
ขอบคุณข้อมูล prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.