การที่เราบอกว่าศรีราชาจะเป็น “เมืองหลวง” โดยธรรมชาติของ”อ่าวไทย” จึงมีนัยที่ใหญ่หลวงในยุค “บูรพาภิวัตน์” ที่การค้า การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการลงทุนของประเทศทั้งหลายในแถบมหาสมุทรปาซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขยายไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทวีความสำคัญขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างไม่หยุดหย่อน…
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง ที่ตั้งของ”ศรีราชา” และอ่าวไทย
อำเภอศรีราชาในวันนี้เป็นเมืองไปทั้งอำเภอแล้ว ถ้าจัดเป็นเมือง “ศรีราชา” จะเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมืองหนึ่งของไทย เปลี่ยนจากที่เคยปลูกอ้อย ปลูกสับปะรด ตัดไม้ ค้าไม้ กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรม อาจเรียกได้ว่า ศรีราชาเป็นเมืองที่อยู่ในใจกลางของการเปลี่ยนไปสู่สังคม-เศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะเรียกว่าการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ก็คงได้
ศรีราชาเป็นเมืองที่มีภูมิศาสตร์เด่นอยู่ที่การอยู่ติดทะเล อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบังของทางการ เสริมด้วยท่าเรือสำคัญของภาคเอกชน เช่น ท่าเรือ”เคอรี” (Kerry Sea Port) เป็นทางออกทะเลที่เชื่อมการขนส่งสินค้ากับประเทศอื่นจนถึงทวีปอื่น ๆ ได้
มีนักลงทุนไทยและต่างชาติพากันย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำธุรกิจ ทำงาน สร้างงานในศรีราชาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น ซึ่งนับวันมีจำนวนสูงขึ้น ขณะนี้มีคนญี่ปุ่นที่ลงทะเบียนในเทศบาลศรีราชา กว่า 8,000 คน แต่จริงๆ แล้วอาจมากถึง 10,000 คน เทียบกับคนไทยที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในนั้นมี 20,000 คน (จำนวนคนไทยอยู่จริงประเมินว่ามี 50,000 คน) ศรีราชา จึงถูกขนานนามอีกอย่างว่า “Little Osaka” มีคนญี่ปุ่นอาศัยจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย รองจากกรุงเทพฯ (ห้าหมื่นคน) และ จังหวัดอยุธยา (สองหมื่นคน)
เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยจำนวนมาก จึงทำให้ศรีราชากลายเป็นเมืองที่มีการลงทุนทางอสังหาริมทรัพย์สูงมาก โดยเฉพาะ Serviced Apartment และคอนโดฯ จำนวนมาก อีกทั้งมีการลงทุนของห้างสรรพสินค้าเช่น เจ-พาร์ค ฮาร์เบอร์มอลล์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตของญี่ปุ่น มีการตกแต่งร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ ให้คล้ายคลึงกับสไตล์ของญี่ปุ่น
จุดแดงคือศรีราชา อ่าวไทยของไทย กัมพูชาและเวียดนาม
อย่างไรก็ดี มักไม่ทราบกันว่าศรีราชายังมีที่ตั้งดีเป็นพิเศษที่เชื่อม”ทะวาย” ของพม่าเข้ากับอ่าวไทยได้ กล่าวอีกอย่างว่า การเชื่อมต่อระหว่าง “สองทะเล (อันดามันและอ่าวไทย)-สองมหาสมุทร (อินเดียและปาซิฟิก)” นั้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกันผ่านเฉพาะคาบสมุทรภาคใต้เท่านั้น ภาคกลางก็เชื่อมได้ แต่ภาคกลางจะเชื่อมทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียของพม่าที่อยู่ติดเมืองทะวาย เข้ากับกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ เข้าสู่ศรีราชาทางบกและจากศรีราชาลงสู่อ่าวไทยซึ่งเชื่อมต่อเข้ามหาสมุทรปาซิฟิกส่วนอื่นๆ ได้
ถ้าการเชื่อมต่อดังกล่าวได้เมื่อไร ศรีราชาจะไม่เป็นเพียง “เมืองหลวงของอีสเทอร์นซีบอร์ด” เท่านั้น แต่จะเป็นจุดเชื่อม”สองทะเลสองมหาสมุทร” ของพม่าและไทยได้ด้วย จะเป็นจุดที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดในการเชื่อมพม่าเข้ากับอ่าวไทย และเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกเข้าด้วยกันอย่างง่ายดาย นี่คือความน่าพิศวงของภูมิ-เศรษฐกิจไทยและที่ตั้งของศรีราชา
อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวไทยและศรีราชายังไม่ค่อยตระหนักกัน คือ ศรีราชายังสามารถเชื่อมทางทะเล โดยผ่านอ่าวไทย เข้าสู่เมืองชายทะเลและเมืองท่าของกัมพูชาและเวียดนามในอ่าวไทยได้ด้วย ศรีราชาจึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็น “เมืองหลวงของอ่าวไทย” เชื่อมร้อยไทยทางทะเลเข้ากับกัมพูชา (ไม่ไกลจากพนมเปญ) และเวียดนาม (ไม่ไกลจากโฮจิมินห์)โปรดอย่าลืมว่ากัมพูชา เขมร และพม่านั้น ส่วนที่อยู่ติดหรือใกล้ทะเลนั้น กำลังเติบโตเร็วมาก
จุดแดงคือศรีราชา อ่าวไทยของไทย กัมพูชาและเวียดนาม
ศรีราชาจากนี้ไปย่อมจะไม่อาศัยเพียงแต่ลงทุนและอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นเท่านั้น หากจะอาศัยแรงดันและแรงดึงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบอ่าวไทยที่นับรวมถึงกัมพูชาชายทะเลและเวียดนามตอนใต้ได้ด้วย และอย่าลืมว่าศรีราชานั้นยังโยงไปถึงทะวายและอันดามันของพม่าอยู่แล้วตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นศรีราชาจะเป็นเมืองที่โยงไทยทางทะเลเข้ากับสามประเทศ คือพม่า(ผ่านทั้งทะเลและบก) เวียดนามและกัมพูชา (ผ่านทะเลอ่าวไทย)ด้วยมี “ที่ตั้ง” อันน่าอัศจรรย์ และมีพื้นฐานเดิมของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงในอนาคตด้วย จึงมีการวางแผนเส้นทางคมนาคมที่เข้าออกศรีราชาได้หลายเส้นทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้คน เช่น ทางพิเศษสายบูรพาวิถี – พัทยา ทางหลวงพิเศษ (MOTORWAY) สุวรรณภูมิกับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูง แหลมฉบัง-ทวาย
การขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกในเขตเพื่อนบ้านมาสู่ไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ ช่วยลดระยะทางสำหรับการเดินทางจากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออก มีการเซ็น MOU การลงทุนร่วมกันระหว่าง ไทย พม่า ญี่ปุ่น และในอนาคตยังอาจเชิญชวนกัมพูชาและเวียดนามหรือจีนเข้าร่วมด้วย
สุดท้าย คงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าจะไม่พูดถึงยุทธศาสตร์สร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ของจีน ที่จะผ่านอ่าวไทยด้วย จีนย่อมจะต้อง“เข้ามาสู่” อ่าวไทยมากขึ้นอย่างทบเท่าทวีคูณ
อ่าวไทย ซึ่งเป็นของไทย แต่ก็เป็นของกัมพูชา และของเวียดนามด้วย ก็จะพลันกลายเป็นสะพานเชื่อมการค้าทางทะเลและสมุทรระหว่างจีนซึ่งอยู่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวไทยเข้ากับพม่า อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย และคลองสุเอซ ซึ่งอยู่ไปทางตะวันตกของอ่าวไทย
การที่เราบอกว่าศรีราชาจะเป็น “เมืองหลวง” โดยธรรมชาติของ“อ่าวไทย” จึงมีนัยที่ใหญ่หลวงในยุค “บูรพาภิวัตน์” ที่การค้า การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการลงทุนของประเทศทั้งหลายในแถบมหาสมุทรปาซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขยายไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทวีความสำคัญขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างไม่หยุดหย่อน และทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ “ที่ตั้ง” และ “ศักยภาพ” อันเป็นเลิศของเมืองศรีราชา
ขอบคุณข้อมูล : สำนักข่าวอิศรา
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.