วงการอสังหาริมทรัพย์วันนี้ ถ้าพูดถึงตัวเลขการรับรู้รายได้ ตัวเลขกำไร ยังถือว่าหล่อ ยังถือว่าสวยกันแทบถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับว่าหล่อมากเลยทีเดียว
แต่อย่าลืมว่า ตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ที่ทำให้เกิดการรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปีมา เป็นตัวเลขยอดจองเมื่อปีที่แล้วสำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ เป็นตัวเลขเมื่อปีก่อนโน้นสำหรับคอนโดมิเนียม มิใช่ตัวเลขยอดจองที่เกิดในปีนี้
ปีนี้ จำนวนผู้บริโภคแวะเข้าเยี่ยมชมโครงการลดน้อยลง สถิติยอดจองซื้อใหม่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หน้านี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และทำใจไว้แล้วระดับหนึ่ง เพราะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวม
ตัวเลข backlog หรือยอดจองซื้อสะสมของบริษัทอสังหาฯ ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เช่นกัน
สถานการณ์ปีนี้ สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดจนพูดกันไม่ค่อยออก คืออัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เพิ่มสูงขึ้นมาก บ้างว่า สูง 30-40% บ้างว่าสูงถึง 40-50%
ถือเป็นอัตราที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เพราะเท่ากับทั้งโครงการขายได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าตั้งหน้าตั้งตาผ่อนดาวน์มาเป็นปี แต่เมื่อยื่นกู้แบงก์ปฏิเสธปล่อยเชื่อก็เท่ากับว่าลูกค้าก็เสียโอกาสเสียเวลาไป ทางโครงการก็ต้องนำมาทำตลาดขายใหม่เกือบครึ่งหนึ่งของโครงการ เกิดค่าใช้จ่ายการตลาดต่างๆ ขึ้นใหม่อีกรอบในการขายสินค้าเดิม
เหตุที่ธนาคารปฏิเสธมากขึ้นก็เพราะกลัวหนี้เสีย ธนาคารทุกแห่งมีการปรับหลักเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น
เดิมธนาคารใช้ประวัติเครดิตของผู้กู้ในอดีต รายได้ปัจจุบัน และหลักทรัพย์จำนอง เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อ แต่ทุกวันนี้ธนาคารยังมีการคาดการณ์ล่วงหน้า ว่าอาชีพของผู้กู้จะมั่นคงต่อไปหรือไม่ รายได้พิเศษ เบี้ยเลี้ยง โอทีจะนำมาคิดเป็นรายได้รวมหรือไม่
เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์กลัวความเสี่ยงหนี้เสีย จึงเข้มงวดและปฏิเสธปล่อยกู้มากขึ้น เมื่อปฏิเสธมากขึ้นเศรษฐกิจโดยรวมก็แย่ลง
กลายเป็นวงจรขาลงไปแล้ว
ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่รู้จะเดินหน้ายังไง ทุกวันนี้รับฝากเงินก็ไม่อยากรับฝาก เพราะสภาพคล่องล้นแบงก์อยู่ ปล่อยกู้นั้นอยากปล่อยแต่ก็กลัว จึงปฏิเสธ ซึ่งสรุปว่าไม่ได้ปล่อยนั้นเอง
ถ้าสภาพเป็นอยู่อย่างนี้ การส่งเสริมธุรกิจการส่งเสริม SME ก็เป็นเพียงการส่งเสริมด้วยคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่ชีวิตธุรกิจจริงๆ เป็นคนละเรื่องกัน
นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม จะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ที่ผลักดันให้มีการใช้บัญชีเดียว ผลักดันให้ใช้ อีเพย์เมนต์ เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นหน้าที่ของสรรพากรที่จะทำเช่นนั้น
แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นในสถานการณ์ที่ชะลอตัว ผลประกอบการแย่ลง
เอาว่า มารอติดตามดูกันต่อไปดีกว่า
ครั้งนี้ จะเป็นการหลับยาว ซึ่งยังมีโอกาสตื่น หรือเป็นการหลับไม่ตื่น
ขอบคุณข้อมูล:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.