ศูนย์ข่าวศรีราชา – ประชาชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังสบายใจ หลังมีส่วนร่วมในออกแบบโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3
นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่3 เผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ ได้มี การประชุมของคณะกรรมการกำกับการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ที่ห้องประชุม1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
โดยได้มีการหารือกันถึง โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ซื่อถือเป็นโครงการเร่งด่วนโครงการหนึ่งที่รัฐบาลได้บรรจุให้อยู่ในแผนของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนรอบพื้นที่โครงการโดยเฉพาะชุมชนบ้านแหลมฉบัง บางละมุง นาเกลือ ได้คัดค้านโครงการมาตลอด เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของชุมชน
โดยเฉพาะอาชีพประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนชุมชนที่อาศัยโดยรอบท่าเรือจนถึงเมืองพัทยา หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ การท่าเรือแหลมฉบังและที่ปรึกษา
เพื่อจัดให้มีการพูดคุยสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะและกำหนดให้มีการตัดสินใจร่วมกัน โดยมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนโดยจัดให้เป็นเวทีเปิดเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังได้ ซึ่งในการประชุมวันนี้มีผลสรุป คือ
1.ได้มีการเปรียบเทียบรูปแบบโครงสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ที่ออกแบบโดยที่ปรึกษากับรูปแบบโครงสร้างท่าเรือที่เสนอโดยภาคประชาชนทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสรุปผลคือ รูปแบบของภาคประชาชนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแต่มีค่าการลงทุนสูงกว่าและความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม
ทั้งในด้านความสะดวกในการเดินเรือ การใช้ประโยชน์ของร่องน้ำ รวมทั้งปริมาณดินขุด/ดินถมต่ำกว่ารูปแบบของการท่าเรือ อย่างไรก็ตามที่ประชุมกำหนดให้มีการนำเสนอรูปแบบโครงสร้างของท่าเทียบเรือทั้ง2 แบบไว้ในรายงานEHIA เพื่อเป็นทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจต่อไป
2.การท่าเรือฯแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 โดยมีนายอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นประธานและมีภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงาน 3 เดือน
3.ให้การท่าเรือฯนำรูปแบบโครงสร้างของท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ทั้งของการท่าเรือฯและของชุมชนไปติดแสดงในพื้นที่และอธิบายความเป็นมารวมทั้งข้อดีข้อด้อยให้ชุมชนต่าง ๆได้รับทราบอย่างทั่วถึง
4.ให้ที่ปรึกษาเก็บข้อมูลและทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งจัดทำร่างรายงานฯให้แล้วเสร็จภายในกันยายนและจัดประชุม ค.3 เพื่อนำเสนอร่างรายงานฯและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรอย่างเคร่งครัดโดยให้เชิญกลุ่มนักธุรกิจและประชาชนเมืองพัทยาร่วมประชุมออกความเห็นด้วยทั้งนี้จะต้องให้คณะกรรมการกำกับการศึกษาตรวจสอบร่างรายงานฯฉบับสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานEHIA (คชก) พิจารณาต่อไปภายในเดือนตุลาคม 2560
5.ให้การท่าเรือฯตั้งงบประมาณทำการศึกษาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและการจัดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินชายทะเลตั้งแต่อำเภอศรีราชาจนถึงเมืองพัทยาเพื่อเสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป โดยให้ทำคู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานEHIA ของท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่3
6.กำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ทั้งในช่วงก่อสร้างและเปิดดำเนินการโดยมีภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
ขอบคุณข้อมูล MRG Online
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.