“บิ๊กตู่” ไฟเขียวแผนพัฒนา EEC พื้นที่เชิงพาณิชย์ไฮสปีดเทรน “สมคิด” เตรียมจัดแพ็กเกจโรดโชว์ “จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี” หวังดูดเม็ดเงินลงทุน 1.5 ล้านล้าน กรมโยธาฯรับลูก เร่งยกเครื่องผังเมือง 3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ปักหมุดสร้างเมืองใหม่ 4 แห่ง รับนักท่องเที่ยว แหล่งงาน ที่อยู่อาศัย ทะลัก 13.5 ล้านคน/ปี คมนาคมอัด 6 แสนล้านลุยโครงสร้างพื้นฐาน มาครบมอเตอร์เวย์ รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ตามที่กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอ
โดยเตรียมจะตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายและคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเพื่อออกพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและนำบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12ด้วย
ก.ย.โรดโชว์จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี
ภายในปลายเดือนก.ย.นี้ทางนายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเตรียมนำแผนการพัฒนาโครงการโดยรวมนำไปโรดโชว์ให้นักลงทุนของประเทศจีนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
“แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ครอบคลุม 5 ด้าน คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนา 3 เมืองใหม่ การจัดระบบบริการวันสต็อป และประชาสัมพันธ์ ซึ่งช่วงที่ยังไม่มี พ.ร.บ.บังคับใช้ จะจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการ EEC ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มาดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายการลงทุนมีทั้งภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก (ดูตาราง) อาทิ เมืองใหม่ 4 แสนล้านบาท จะเป็นการลงทุนโดยเอกชน สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี จะลงทุนโดยรัฐ เป็นต้น หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากประเทศจะมีการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี ลดโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาท/ปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน/ปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาท/ปี
เปิดจุดที่ตั้ง 4 เมืองใหม่
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่จะสร้างเมืองใหม่มีการกำหนดพื้นที่เบื้องต้นไว้แล้ว มี 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา จะเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเมืองฉะเชิงเทรากับ จ.ชลบุรี 2.เมืองใหม่ระยอง จะอยู่เลยจากตัวเมืองระยอง และใกล้กับ อ.บ้านค่าย 3.เมืองใหม่พัทยา เป็นพื้นที่เดียวกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดพื้นที่ไว้แล้ว และ 4.เมืองใหม่อู่ตะเภา อยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 5 กม. ซึ่งทั้ง 4 เมืองใหม่นี้จะรองรับประชากรในพื้นที่จะเพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 10 ปี จากปี 2559 อยู่ที่ 2.4 ล้านคน เป็น 13.5 ล้านคน เนื่องจากจะมีแหล่งงานและคนเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก หลังมีการลงทุนใหม่ ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
“พื้นที่กำหนดเป็นเมืองใหม่ ภายในจะประกอบด้วย มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ มีความเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ดี”
โยธาฯเร่งแก้ผังเมืองเสร็จ 1 ปี
นายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้ กรมจะต้องเร่งจัดทำผังเมืองรวมการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อกำหนดว่าในพื้นที่นั้น ๆ เหมาะสมจะพัฒนาอะไร เช่น นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ซึ่งการจัดทำผังเมืองจะต้องนำเรื่องการพัฒนาเมืองใหม่ โครงการคมนาคมขนส่งใส่เข้าไปด้วย
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ EEC มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี2559-2560 ระยะที่ 2 ปี 2561-2563 ระยะที่ 3 ปี 2564-2570 ทั้งหมด 12 ปี วงเงิน 6 แสนล้านบาท
ส่วนใหญ่จะเน้นระยะที่ 1 และ 2 อาทิ ขยายมอเตอร์เวย์จากแหลมฉบัง-นครราชสีมา กับบ้านบึง-แกลง-จันทบุรี-ตราด, ขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, ท่าเรือจุกเสม็ด, พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นอุตสาหกรรมอากาศยาน, ขยายรถไฟทางคู่เส้นทางแหลมฉบัง-ปลวกแดง-ระยอง และจันทบุรี-ตราด และมาบตาพุด-ระยอง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดเอกชนมาลงทุนใน EEC มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 3 แสนเที่ยวคน/วัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีการเชื่อมโยงสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
ขอบคุณข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.