กทพ.ปรับแผนทางด่วน “บูรพาวิถี-พัทยา” หลังกรมทางหลวงไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตทางช่วงบายพาสชลบุรีและมอเตอร์เวย์สาย 7 เสนอหั่นเส้นทางแก้ปัญหาจราจรแออัดทางลงบูรพาวิถีและหน้านิคมฯ อมตะ จากเดิมแนวเส้นทางต้องไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง และพัทยา ด้าน “ไพรินทร์” สั่ง สนข.เร่งประสาน ทล.-กทพ.พิจารณาปรับแผนใหม่
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ว่า จากการศึกษาแนวเส้นทางจะต่อเชื่อมจากจุดสิ้นสุดทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนบางนา-ชลบุรี) จ.ชลบุรี ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งชายหาดบางแสนและเมืองพัทยา โดยจะใช้พื้นที่เขตทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ทางหลวงหมายเลข 361 (เส้นทางเลี่ยงเมืองชลบุรี หรือบายพาสชลบุรี) และมอเตอร์เวย์สาย 7 ระยะทางรวมกว่า 65 กม. แต่เนื่องจากจะต้องใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงได้ตอบหนังสือแจ้งไม่อนุญาตให้ กทพ.ใช้พื้นที่เขตทาง ทำให้ต้องชะลอโครงการออกไป
ทั้งนี้ ล่าสุดนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาจราจร จากทางลงทางด่วนบางนา-ชลบุรี ไปจนถึงบริเวณนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีความแออัดอย่างมาก โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณา ว่าจะดำเนินโครงการอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา โดยเบื้องต้น กทพ.เสนอปรับแผนโครงการบูรพาวิถี-พัทยา โดยตัดระยะทางให้สั้นลงเพื่อลดการใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวง เช่น ต่อขยายจากทางด่วน บางนา-ชลบุรี ออกไปสิ้นสุดบริเวณบายพาสชลบุรีเพื่อระบายการจราจรออกจากถนนสุขุมวิท และหน้านิคมอมตะเท่านั้น
“เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์โครงการใหม่ ปรับการทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาจราจร ตั้งแต่ทางลงสายบูรพาวิถี นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งอยู่ที่ สนข.จะประเมินความเหมาะสมว่าจะทำโครงการถึงบริเวณใด โดยหากต่อจากบูรพาวิถีออกมาประมาณ 10กม.เศษจะสามารถเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ สาย 7 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรบายพาสชลบุรีได้ อีกทั้งจะรับรถจากมอเตอร์เวย์เข้าทางด่วนได้ดีกว่า”
นอกจากนี้ ในการศึกษาแนวเส้นทางบูรพาวิถี-พัทยาจะเชื่อมไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง แต่เนื่องจากเป็นทางยกระดับ ระยะทางค่อนข้างยาว ผลตอบแทนทางการเงินต่ำ ประกอบกับปัจจุบันมีหลายโครงการที่เป็นโครงข่ายไปยังพื้นที่ดังกล่าว ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งระบบทางด่วนเป็นทางเลือกในการเดินทาง การตัดโครงการย่นระยะทางลงจะมีความเหมาะสมมากกว่า
รายงานข่าวแจ้งว่า ในปี 2560 ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) มีปริมาณจราจรเฉลี่ย146,821 คันต่อวัน
สำหรับโครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยานั้น กทพ.ได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2557-2558 มีจุดเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถี บริเวณเทศบาลตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี ยกระดับไปตามถนนสุขุมวิท จนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี หลังจากนั้นจะไปตามแนวเกาะกลางของทางเลี่ยงเมืองชลบุรีไปจนถึงทางแยกต่างระดับข้ามทางรถไฟที่ กม.15 และขนานไปในแนวด้านซ้ายของมอเตอร์เวย์สาย 7 (ห่างประมาณ 100-500 เมตร) ผ่านทางเข้าสวนเสือศรีราชา ข้ามมอเตอร์เวย์สาย 7 บริเวณแยกหนองยายบู่ และตัดผ่านเส้นทางเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง และไปบรรจบมอเตอร์เวย์สาย 7 ขาลงที่จะเข้าสู่เมืองพัทยา ระยะทางรวม 68 กม. วงเงินลงทุนรวม 69,423 ล้านบาท ประเมินค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 60,958 ล้านบาท ค่าออกแบบ 200 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 8,265 ล้านบาท
ขอบคุณข้อมูล : mgronline
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.