หลังจากวันที่ 23 เม.ย. 2558 คณะผู้บริหารของ “ซีพี- บมจ.เจริญโภคภัณฑ์” ยกขบวนบุกกระทรวงคมนาคมพบ “บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” หารือโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง (มาบตาพุด) มูลค่ากว่า 1.52 แสนล้านบาท
ครั้งนั้นเปิดตัวจะร่วมกับพันธมิตร “บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่น” จากฮ่องกง มีธุรกิจครบวงจรทั้งออกแบบ ที่ปรึกษา ก่อสร้าง สถาบันการเงิน และ “บจ.ไห่หนานกรุ๊ป” จากประเทศจีน ที่มีความเชี่ยวชาญสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ เสนอออปชั่นจะร่วมลงทุนกับรัฐรูปแบบ PPP ที่ “ซีพี” มีความเชี่ยวชาญการลงทุนรูปแบบ BOT(Build Operate Transfer) คือ จ้างก่อสร้าง รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ซึ่งหลังครบอายุสัมปทานโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย”
โดยที่ผ่านมา “ซีพี” ตั้งคณะทำงานศึกษาการลงทุนรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะ แต่จากวันนั้นดูเหมือนโปรเจ็กต์เริ่มอ่อนแรง จนรัฐบาล คสช.จุดพลุ
“อีอีซี-การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ทำให้รถไฟความเร็วสูงสายนี้ถูกจับตามองอีกครั้ง เพราะจะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่จะตรึงนักลงทุนไทย-เทศปักหลักอยู่ที่อีอีซี
ขณะเดียวกันได้เขย่าเส้นทางใหม่ให้การเดินทางเชื่อมกับ 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 260 กม. มี 10 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา และระยองจะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการรูปแบบ PPP Net Cost 50 ปี กว่า 308,000 ล้านบาท มีงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า 226,000 ล้านบาท และได้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน 204 ไร่ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี 82,000 ล้านบาท
ตามแผน “ร.ฟ.ท.” เริ่มขายทีโออาร์เดือน พ.ย. 2560 ได้เอกชนผู้ลงทุนและเริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 เปิดบริการกลางปี 2566 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 169,550 เที่ยวคนต่อวัน
ขณะที่การเดินรถช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ มีความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ช่วงลาดกระบัง-ระยอง ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทางจากดอนเมือง-ระยอง (จอดทุกสถานี) 2 ชั่วโมง ส่วนขบวนรถด่วนพิเศษจากดอนเมือง-อู่ตะเภา 1 ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารสาย City Line เริ่มต้น 13 บาท คิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ส่วนรถไฟความเร็วสูง เริ่มต้น 20 บาท คิดเพิ่ม 1.8 บาท/กม.
ล่าสุด “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทขอดูเงื่อนไขต่าง ๆ ในการประมูลที่รัฐจะให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ขณะนี้ยังตอบรายละเอียดอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามทางบริษัทเห็นความสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้น
ถามว่า…ที่ดินของ “ซี.พี.แลนด์” มีอยู่ในพัทยาและระยอง จะนำมาพัฒนา เช่น เมืองใหม่ เพื่อรับกับแผนพัฒนาอีอีซีและรถไฟความเร็วสูง “ศุภชัย” ย้ำว่า อาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษานาน ๆ ต้องดูทีละขั้นตอน เพราะการจะสร้างเมืองใหม่ใช้เวลานาน ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ดินของ บมจ.ซี.พี.แลนด์ มีอยู่ที่ จ.ระยอง 3,140 ไร่ เตรียมไว้ลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ “ซีพี อินดัสเทรียล พาร์ค” หลังติดหล่มกฎเหล็กผังเมืองร่วม 2-3 ปี ขณะนี้ได้รับไฟเขียวจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” เมื่อเดือน ก.ค.2560 ให้ปรับปรุงแก้ไขสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว คาดว่าจะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเริ่มเดินหน้าโครงการอย่างเต็มสูบ
ปัจจุบันมีนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สนใจจะเข้ามาลงทุน พื้นที่นิคมตั้งอยู่ ต.มาบข่า ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สนามบินอู่ตะเภา 30 กม. และใกล้สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 เฟส ระยะที่ 1 และ 2 ประมาณ 800 ไร่ ระยะที่ 3 ประมาณ 600 ไร่ อีก 900 ไร่ที่เหลือจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและพื้นที่สีเขียว
มี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์โลหะแปรรูป , แปรรูปเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ, อุตสาหกรรมเบา เช่น ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค
อีกทั้งยังมีที่ดินพัทยาใต้กว่า 20-30 ไร่ ใกล้ ถ.เทพประสิทธิ์ ที่รอการพัฒนาอีกเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูล prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.