บอร์ดเฉพาะกิจ EEC เตรียมเสนอบอร์ดใหญ่อนุมัติศึกษาส่วนต่อขยาย “อู่ตะเภา-ระยอง” ไอสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 30 กม. เงินเพิ่มเหยียบหมื่นล้านใช้รูปแบบ PPP เส้นทางใหม่เวนคืนที่ดินเลี่ยง “มาบตาพุด” คาดเชิญชวนนักลงทุนไตรมาส 1 ปี”63 กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งทีมใหม่ Proactive ผลักดันโครงการเต็มรูปแบบ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุม คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2561 ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุม “รับทราบ” ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภาไปยังจังหวัดระยอง ระยะทาง 30 กม. จำนวน 1 สถานี มูลค่าลงทุนจะเพิ่มเป็นหลัก 10,000 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่มีระยะทาง 220 กม. มูลค่าลงทุน 300,000 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาเริ่ม 18 เดือนจึงจะเสร็จสิ้นขั้นตอนอนุมัติ
“ส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง ทาง กบอ.จะนำเรื่องเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อให้บอร์ด EEC รับทราบและพิจารณาอนุมัติเริ่มทำการศึกษาส่วนต่อขยายต่อไป” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธาน กบอ.กล่าว
ทั้งนี้ กรอบการดำเนินการส่วนต่อขยายจะเริ่มทำการศึกษาออกแบบในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช้เวลา 4 เดือนแรก ผลการศึกษาก็จะแล้วเสร็จ จากนั้นไตรมาส 4/2562 ก็จะเริ่มทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นไตรมาส 1/2563 จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนจนถึงไตรมาส 4/2563 ก็จะลงนามสัญญาและเปิดให้บริการภายในปี 2567 โดยส่วนต่อขยายนี้จะเป็นสัญญาใหม่ในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
“เดิมเส้นทางรถไฟไฮสปีด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เคยทำการศึกษาไว้แล้วจากช่วงดอนเมืองไประยอง สถานีสุดท้ายหยุดที่อู่ตะเภา ส่วนการจะเดินรถไปจนถึงระยองนั้นจะผ่ากลางเข้ามาบตาพุด ซึ่งเรากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเส้นทางใหม่กลายมาเป็นโครงการส่วนต่อขยายอู่ตะเภาไประยองเส้นใหม่ที่จะอ้อมมาบตาพุด โครงการนี้จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่บ้างบางส่วน และต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ จากเดิมที่จะใช้เส้นรถไฟเก่าเลียบชายหาด เมื่อเส้นส่วนต่อขยายเส้นนี้เสร็จ รัฐบาลมีแผนที่จะศึกษาส่วนต่อขยายไปยังจังหวัดจันทบุรี และตราด ในโอกาสถัดไป” นายกอบศักดิ์กล่าว
ขยับแนวเลี่ยงมาบตาพุด
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้รายงานความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. ที่ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 50 ปี เงินลงทุนกว่า 224,000 ล้านบาท และเตรียมศึกษา “ส่วนต่อขยาย” จากอู่ตะเภาไประยอง และตราด เพื่อให้คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบ โดยจะเร่งศึกษาส่วนต่อขยายไประยอง ระยะทางประมาณ 30-40 กม. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะมีสถานีจอดรถที่ระยองด้วย
“ตามแผนเดิมจะสร้างจากกรุงเทพฯ-ระยองอยู่แล้ว แต่เมื่อมี EEC จึงตัดสร้างถึงอู่ตะเภาก่อน เพราะช่วงจากอู่ตะเภา-ระยอง แนวเส้นทางจะต้องตัดผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะต้องใช้เวลาพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นาน จำเป็นที่จะต้องปรับแนวใหม่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยแนวใหม่อาจจะขยับไปตรงพื้นที่ว่างที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาแทน จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มหรือจะเบี่ยงแนวไปใช้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 3 สัตหีบ-บ้านฉาง-ระยอง ของกรมทางหลวง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา ขณะที่ที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงระยองจะห่างจากศูนย์กลางเมืองประมาณ 4 กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของถนน 36 กับถนน 3138” นายวรวุฒิกล่าว
ส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง จะเป็นการลงทุนเฟสที่ 2 เอกชนที่เข้าร่วมประมูลหากมีที่ดินรองรับก็สามารถเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยเสนอเข้ามาเป็นซองที่ 4 ถ้าหากมองว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการได้ เพราะผลการศึกษาเดิมระบุไว้อยู่แล้วว่า โครงการจะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อสร้างไปถึงระยอง เนื่องเป็นแหล่งงานและที่อยู่อาศัยทั้งคนไทยและต่างชาติ
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยองแล้ว ที่ประชุม กบอ.ยังรับทราบ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 2) ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ระยะที่ 1, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 และ 3) โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่ได้ดึงเข้าไปเป็นโครงการที่ใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อต้องการให้ได้นักลงทุนผู้บริหารพื้นที่ที่มีคุณภาพและเก่ง (master developer) เรื่องการก่อสร้างเพื่อเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ (smart city)
ตั้งทีม Proactive
ส่วนความคืบหน้าด้านอื่น ๆ นั้นในระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะเดินทางมาประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) มีกำหนดการจะลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย ทางสำนักงาน EEC ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และอาจใช้โอกาสนี้เจรจาให้นักลงทุนรายใหญ่ที่เดินทางร่วมมากับคณะอย่าง “หัวเว่ย” ได้เห็นศักยภาพและโอกาสของ EEC เช่นกัน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ตั้ง “ทีม Proactive” ขึ้นมา เพื่อที่จะนำโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงโครงการที่เคยลงนาม (MOU) กับทางหน่วยงานรัฐและเอกชนของต่างชาติ (ญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน) นำมาเชื่อมโยงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การสนับสนุนมาตรการให้ SMEs ลงทุนใน EEC, การให้นักลงทุนต่างชาติช่วยพัฒนา SMEs ไทย, การดึงนักลงทุนรายเล็ก SMEs เข้าไปเป็นซัพพลายเออร์เพื่อซัพพอร์ตให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนใน EEC ให้กลายเป็นคลัสเตอร์ในภาคอุตสาหกรรม
“อาจเรียกทีมนี้ว่า proactive หรืออะไรยังไม่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเซตทีมขึ้นมา โดยยุบทีมเดิมที่เคยตั้งขึ้นให้เหลือเพียงทีมเดียว และเราจะสรุปรวมโครงการและแผนงานทั้งหมดที่จะเชื่อมโยงเข้าไปใน EEC เสนอต่อนายอุตตมพิจารณาต่อไป” นายสมชายกล่าว
ขอบคุณข้อมูล prachachat