นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นศูนย์กลางเขตอุตสาหกรรมใหม่ของโลก กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก ภายหลังมีการโจมตีในเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินรวมไม่เกิน 99 ปี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเช่าที่ดินนานรวม 99 ปี เป็นสิทธิตามกฎหมายเดิมมาตั้งแต่ปี 2542 ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ไม่ได้เขียนขึ้นมาใหม่ แต่นำสิทธิเดิมที่มีอยู่แล้ว นำมาเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการลงทุนและอ้างอิงได้ง่าย
กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 ที่ระบุว่า การเช่าจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี และในปี 2542 รัฐบาลขณะนั้นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย เห็นว่า การจะลงทุนจะต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้ออก พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย กรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ขึ้นมา โดยได้เพิ่มระยะเวลาให้กับการเช่าเพื่อการทำพาณิชย์และอุตสาหกรรมโดยกำหนดไว้ว่า การเช่า หมายถึง การเช่าอสังหาฯเพื่อพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมที่กำหนดเวลาเช่าเอาไว้เกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี และได้กำหนดต่อไปอีกในมาตรา 4 ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าดังกล่าวแล้ว ผู้เช่าและผู้ให้เช่า อาจจะตกลงต่อระยะเวลาการให้เช่าต่อไปอีกได้ โดยมีกำหนดไม่เกิน 50 ปี ตั้งแต่วันที่ตกลงกัน แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินในเขตพื้นที่ EEC ไม่ใช่ 99 ปี แต่สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี และขยายตัวได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปี เหมือนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการพาณิชย์ พ.ศ.2542 หลายประเทศได้ดำเนินการเป็นปกติ 50 ปี สามารถขยายได้ 49 ปี
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.นี้ บอร์ดอีอีซีจะเดินทางลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และให้เกิดการยอมรับในพื้นที่และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะและโซเชียลมีเดียตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
สำหรับความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.อีอีซี อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ในเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยผู้ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีนี้ มีสิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุได้ถึง 50 ปี และขยายเวลาเช่าต่อได้อีก 49 ปี การอนุมัติการเข้าเมืองและเข้าทำงานของผู้ลงทุนผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญครั้งละ 5 ปี รวมทั้งลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลธรรมดาในอัตราไม่เกิน 17 % ให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร
นอกจากนี้ ยังได้สิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคล 9-13 ปี และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ยกเว้นภาษีไม่เกิน 15 ปี สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการระบุสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นผู้กำหนด
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการกำหนด 30 ปี และมีการแก้เพิ่มเป็น 50 ปี เห็นว่า 50 ปี เพียงพอสำหรับการลงทุน ส่วนพื้นที่ที่ต้องการการลงทุนระยะยาวที่ได้ผลตอบแทนช้า ควรมีกฎหมายเฉพาะสำหรับการลงทุนระยะยาวให้เช่าที่ดิน 99 ปี
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เห็นด้วยกับรัฐบาล อยากให้คนไทยก้าวข้ามจุดนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียอาณานิคม เสียสิทธิพิเศษของคนไทย เพราะเราอยู่ในโลกที่ต้องการจะหาเงินลงทุนมาร่วมลงทุนกับเราในอุตสาหกรรมที่เราอยากให้ขยาย ฉะนั้นควรจะเร่งทำให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมเพราะเรากำลังแข่งขันกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน
บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ รวบรวมสิทธิประโยชน์การเช่าที่ดินของประเทศต่างๆพบว่า กัมพูชา มีระยะเวลาเช่า 99 ปี ไม่มีการต่อสัญญา,ลาว ระยะเวลาเช่า 50 ปี การต่อสัญญาจะพิจารณาเป็นรายกรณี, มาเลเซีย ระยะเวลาเช่า 99 ปี ไม่มีการต่อสัญญา, เมียนมา ให้เช่า 50 ปี การต่อสัญญาครั้งละ 10 ปี ต่อได้ 2 ครั้ง, ฟิลิปปินส์ ให้เช่า 50 ปี ต่อสัญญาได้อีก 25 ปี, สิงคโปร์ ให้เช่า 99 ปี ไม่ให้ต่อสัญญา, เวียดนาม ระยะเวลาเช่า 70 ปี ไม่มีการต่อสัญญา, อินโดนีเซีย ให้เช่า 25-30 ปี ต่อสัญญาได้อีก 20 ปี, บรูไน 25-99 ปี การต่อสัญญาจะพิจารณาเป็นรายกรณี
รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 21 เม.ย.นี้ จะมีพิธีลงนามในความร่วมมือ (MOU) ในการประมูลงานก่อสร้างและบริหารท่าเรือแหลมฉบังโครงการ 3 หรือ เฟส 3 มีมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทไทย ประกอบด้วย บริษัท โงวฮก จำกัด บริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด และ บริษัท นทลิน จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมลงทุนจำนวน 51% กับ บริษัท ไชน่า เมอร์ชานท์ จำกัด ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน จะเป็นผู้ร่วมทุนจำนวน 49%
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเปิดประมูลในระหว่างกลางปีถึงปลายปี 2560 การท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นผู้เปิดประมูลเพื่อก่อสร้างและบริหารท่าเรือแหลมฉบังโครงการ 3 โดยกลุ่มเอกชน ลักษณะการประมูลอาจใกล้เคียงคล้ายกับโครงการ 2 มีสัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเปิดใช้บริการท่าเรือโครงการได้ภายใน 5 ปีนับจากลงนามในสัญญาระหว่างผู้รับสัมปทานกับท่าเรือแหลมฉบัง
โครงการนี้ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากและสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรองรับ EEC ควบคู่กับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะมีการลงทุนนับหมื่นล้านบาท