ศึกชิง “เมืองการบินอู่ตะเภา” ระอุ ซี.พี.-พันธมิตรมีสิทธิ์วืด เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 1.02 แสนล้าน ต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ ที่ยื่นสูงลิ่ว 3.05 แสนล้าน บอร์ดคัดเลือกเดินหน้าเจรจาผู้ชนะ สั่งที่ปรึกษาการเงินตรวจความถูกต้องค่าต๋ง 50 ปี เร่งปิดดีล มี.ค. 63 วงในจับตาเงื่อนไข-ข้อเสนอพิเศษ บิ๊ก ซี.พี.ขอให้โครงการเกิด ใครชนะก็ได้ จ่อเจรจาเชื่อมไฮสปีด-สนามบิน เปิดบริการพร้อมกัน ดัน 2 โปรเจ็กต์สำเร็จ ลุ้นต่อมหานครการบิน 2 ล้านไร่ ไข่แดงภาคตะวันออก
หลังจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดย บจ.ธนโฮลดิ้ง (กลุ่ม ซี.พี.), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ช.การช่าง, บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง และ Orient Success International Limited กลับเข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท และผ่านคัดเลือกซองที่ 2 (เทคนิค-แผนธุรกิจ) เมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา
เปิดซองราคากลุ่ม ซี.พี.
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกโครงการมี พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธาน นัดกลุ่ม ซี.พี.เปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (การเงิน) เวลา 09.00 น. โดยเชิญอีก 2 กลุ่มที่เปิดซองราคาไปก่อนหน้านี้เข้าร่วมด้วย
ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ 2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (แกรนด์แอสเสท) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมแต่อย่างใด
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือ ซี.พี. ตัวแทนกลุ่มธนโฮลดิ้ง ขณะเดินทางออกจากห้องเปิดซองได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้น ๆ ว่า “ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดราคาที่เสนอได้ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกกำชับว่า ต้องไม่ให้สัมภาษณ์เด็ดขาด เพราะอาจผิดเงื่อนไขในเอกสารคัดเลือกเอกชนลงทุน (RFP)” เช่นเดียวกับผู้แทนของกลุ่ม BBS และกลุ่ม Grand Consortium ที่กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “มาเป็นพยานรับฟังการเปิดซองของกลุ่ม ซี.พี.เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ส่วนราคาตามข้อเสนอซอง 3 ไม่สามารถให้รายละเอียดได้”
รู้ผลผู้ชนะ มี.ค.นี้
พลเรือเอกลือชัยกล่าวว่า ผลเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ของกลุ่ม ซี.พี.เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทุกขั้นตอนดำเนินการด้วยความรัดกุม โปร่งใส เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน RFP และเป็นธรรมต่อเอกชนที่ยื่นประมูลทุกราย มีผู้แทนของคณะกรรมการคัดเลือก คณะทำงาน กองทัพเรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ปรึกษา และผู้สังเกตการณ์อิสระจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) อยู่ด้วย พร้อมบันทึกภาพนิ่ง วิดีโอ และกล้องวงจรปิด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตลอดกระบวนการ
จากนี้คณะกรรมการคัดเลือกจะตรวจสอบเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 ของทั้ง 3 กลุ่ม หากถูกต้องตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของ RFP จะตรวจสอบรายละเอียดด้านราคา เช่น สมมติฐาน การประมาณการทางการเงิน เพื่อให้ได้เอกชนที่ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐที่ดีที่สุด นำไปสู่การจัดทำร่างสัญญาและรายละเอียดทางเทคนิค เพื่อประกอบสัญญาต่อไป คาดว่าจะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในเดือน มี.ค.นี้
อุบไต๋ข้อเสนอราคา
ด้าน พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะเลขานุการและคณะกรรมการคัดเลือก เปิดเผยว่า การเปิดซองราคาในครั้งนี้จะไม่มีการประกาศราคาที่เป็นทางการ เนื่องจากจะมีผลกับการเจรจาได้ แต่จะไปประกาศผลการคัดเลือกเอกชนเลยทีเดียว หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว
“มีกระแสข่าวว่าเอกชนทั้ง 3 กลุ่ม เสนอราคาอยู่ที่ 100,000-300,000 ล้านบาทนั้น ผมไม่ทราบในข้อเท็จจริง
ดังกล่าว ส่วนการที่คณะกรรมการคัดเลือกจะยื่นอัยการสูงสุด ขอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีใหม่ จะไม่มีผลต่อกระบวนการคัดเลือกเอกชน เพราะจะทำคู่ขนานกันไป”
สำหรับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 เอกชนจะต้องเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐไม่ต่ำกว่า 5% และจำนวนเงินขั้นต่ำของส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปี เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนสุทธิโดยหักเงินลงทุนภาครัฐแล้ว ต้องไม่ต่ำกว่า 49,000 ล้านบาท และเอกชนที่ยื่นซองจะต้องแสดงแบบจำลองทางการเงิน (financial model) ที่แสดงรายได้รวมในแต่ละปี ตลอดอายุโครงการ 50 ปี เพื่อประกอบการพิจารณา
เมื่อมีผู้ที่ผ่านการประเมินแล้วจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาต่อไป แม้จะได้ผู้ชนะแต่ยังเดินหน้าต่อไปเรื่องการส่งมอบพื้นที่ เนื่องจากอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของรันเวย์ที่ 2 ซึ่งรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างให้ จะใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ทางกองทัพเรือพร้อมส่งมอบพื้นที่ในปี 2564
BTS-หมอเสริฐเสนอสูงลิ่ว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ผลสรุปไม่เป็นทางการด้านข้อเสนอราคาของกลุ่ม ซี.พี. ที่เปิดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ได้เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 102,000 ล้านบาท ต่ำกว่าของกลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ ที่เสนอ 305,000 ล้านบาท อยู่ที่ 203,000 ล้านบาท และสูงกว่ากลุ่ม Grand Consortium เสนอ 101,000 ล้านบาท ประมาณ 1,000 ล้านบาท
“ตอนนี้กลุ่มบีทีเอสและหมอเสริฐเป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด แต่ต้องให้ที่ปรึกษาทางการเงินพิจารณาความถูกต้องที่เสนอมาก่อนว่า แผนรายได้ที่ให้รัฐแต่ละปีนั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในทางธุรกิจ เพราะวงเงินปัจจุบันที่เสนอมาสูงมาก คิดเป็นมูลค่าอีก 50 ปีข้างหน้า จะเป็นวงเงินถึง 1.3 ล้านล้านบาท”
รายงานข่าวแจ้งว่า ในเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการจะประชุมและเจรจากับกลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ ส่วนจะเปิดข้อเสนอพิเศษในซองที่ 4 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาคงจะใช้เวลาไม่นาน
เนื่องจากรายละเอียดไม่ซับซ้อนเหมือนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน แต่ต้องดูว่ากลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐจะมีข้อเสนออะไรเพิ่มระหว่างการเจรจาหรือไม่ เชื่อว่าคงมีความมั่นใจในเรื่องผลตอบแทนการลงทุน ถึงเสนอแผนตอบแทนให้รัฐเต็มที่
โดยกลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐมองว่า สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นธุรกิจกำไรมหาศาล เนื่องจากจะรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ต่างจากรถไฟความเร็วสูง ถ้าได้ก็คุ้มค่ากับบางกอกแอร์เวย์สที่มีธุรกิจการบินรองรับอยู่ รวมถึงดิวตี้ฟรี
ส่วนบีทีเอสเป็นดีเวลอปเปอร์ด้านบริการและดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งคอนโดมิเนียมและโรงแรม ขณะที่กลุ่มซิโน-ไทยฯเป็นผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญสร้างโครงการขนาดใหญ่ พันธมิตรทั้งหมดต่างวิน-วินกับโครงการดังกล่าว
สำหรับการลงทุนของเอกชนมี 6 กิจกรรม วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.อาคารผู้โดยสารหลังใหม่หลังที่ 3 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า และการขนส่งภาคพื้น 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะที่ 2 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ
“ทุกคนคิดว่าการที่กลุ่ม ซี.พี.พลิกกลับมาได้เปิดซองราคาอีกครั้ง น่าจะได้ชัยชนะนั้น เพราะจะได้เกื้อหนุนกับไฮสปีดเทรนที่ฟันราคาต่ำไป แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยทั้งกลุ่ม ซี.พี.และกลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐคงต้องเจรจากัน เพื่อให้งานก่อสร้างไปด้วยกัน เพราะสถานีรถไฟความเร็วสูงจะสร้างอยู่ใต้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่สำคัญ ทั้งรถไฟความเร็วสูงและอู่ตะเภาจะต้องเปิดบริการพร้อมกัน เพราะลูกค้ากลุ่มเดียวกัน โครงการถึงจะสำเร็จ”
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกกล่าวว่า จากการประเมินข้อเสนอเทคนิค-แผนธุรกิจแล้ว คะแนนกลุ่ม ซี.พี.ดีกว่า เนื่องจากลงทุนพัฒนาตามแผนแม่บทของอู่ตะเภา ส่วนอีก 2 กลุ่มมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งอาจจะยุ่งยากในด้านการก่อสร้าง แต่โครงการนี้ผลตัดสินผู้ชนะคือ ผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด ดังนั้น กลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐจึงเป็นผู้ชนะในวินาทีนี้
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นงานใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีแผนพัฒนาอีกหลายโครงการ อาจเร็วเกินไปที่จะสรุป
ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าอู่ตะเภาไม่ใช่ ซี.พี.ไม่ได้ลงทุนอู่ตะเภา จะเป็นใครก็ได้ ขอให้ร่วมมือทำให้โครงการให้เกิด แม้กลุ่ม ซี.พี.ต้องการจะพัฒนาอู่ตะเภาให้เป็นฮับ สนามบินนานาชาติเป็นคอมเมอร์เชียลเกตเวย์ มีโรงแรม ค้าปลีก เป็นเดสติเนชั่นของทัวริสต์ เนื่องจากจะทำให้โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงดีขึ้น และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เช่น สัตหีบ พัทยา ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
“สมมุติเราไม่ได้ก็ต้องทำใจ รถไฟความเร็วเร็วสูงต้องยืนพื้นไปก่อน คงมีแผนสำรองและต้องคุยกับผู้ชนะ
อู่ตะเภาว่า เรามีแผนพัฒนาแบบนี้ เขาก็ต้องพึ่งเราที่จะป้อนคนไปสนามบิน ทำแล้ววิน-วิน”
เปิดอาณาจักรหมอเสริฐ
สำหรับนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ลงทุนใน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มโรงพยาบาลถือเป็นธุรกิจเรือธง โดยลงทุนผ่านบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือบีดีเอ็มเอส ที่มีโรงพยาบาลในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ 47 แห่ง เช่น รพ.กรุงเทพ พญาไท เปาโล กลุ่ม รพ.รอยัล เป็นต้น รวมถึงการเข้าไปลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนรายอื่น ๆ เช่น รพ.เอกอุดร รพ.บำรุงราษฎร์ เป็นต้น
ตามด้วยธุรกิจสายการบิน ภายใต้ชื่อ บมจ.การบินกรุงเทพ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยมีหัวแรงสำคัญ คือ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” นั่งเก้าอี้บริหาร พร้อมเดินหน้าขยายเส้นทางบินต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ 20 เส้นทาง และมีธุรกิจสื่อชื่อ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือช่องพีพีทีวี 36
รอลุ้นมหานครการบิน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากอีอีซีมีเป้าหมายจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 6,500 ไร่ เป็นเมืองการบินแล้ว ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินในรัศมี 10-60 กม. อีก 2 ล้านไร่ เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.มีเป้าหมายจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว หลังมีกระแสข่าวว่า ได้ซื้อที่ดินเพื่อรอการพัฒนาไว้แล้ว
ตามแผนแม่บทของอีอีซีจะพัฒนา 3 ระยะ ช่วง 5 ปีแรก พัฒนาเมืองชั้นใน รัศมี 10 กม.รอบอู่ตะเภา 141,145 ไร่ คลุมพื้นที่สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ และจอมเทียน
ระยะที่ 2 ช่วง 5-10 ปี พัฒนาเมืองชั้นกลางในรัศมี 10-30 กม. รอบสนามบิน 820,822 ไร่ คลุมเมืองพัทยา ระยอง แหลมฉบัง จะใช้เวลาเดินทางด้วยไฮสปีด 17-19 นาที วิ่งบนถนนไม่เกิน 40 นาที ทิศทางการพัฒนามีทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม และโรงแรม
ระยะที่ 3 ช่วง 10-15 ปี พัฒนาเมืองเขตชั้นนอก รัศมี 60 กม.จากสนามบิน เนื้อที่ 1 ล้านไร่ คลุมพื้นที่ศรีราชา บ้านค่าย บ้านบึง ของ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง 30-35 นาที
ขอบคุณข้อมูล : prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.