รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนปลายเดือนพฤษภาคมนี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันระบุถึงกรอบเวลาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ว่า พร้อมจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประกวดราคาแล้วในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 นี้ โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนให้ได้ภายในปี 2561 นี้
โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภาโดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร
1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม.
2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม.
3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.
4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร
-สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สําหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง
-สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สําหรับการเป็นสถานี เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ และโรงซ่อม หัวรถจักรของรฟท.
กรอบการร่วมลงทุนในครั้งนี้ ได้มีการนำเอาข้อเสนอและความคิดเห็นที่ได้รับจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนบนหลักการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน (International Bidding) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยจะดําเนินโครงการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ PPP EEC Track
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า “ด้วยการออกแบบกระบวนการให้รวดเร็วและกระชับในรูปแบบ พีพีพี อีอีซี แทรค จะทําให้การเดินหน้าของโครงการรวดเร็ว สอดรับไปกับการพัฒนาของเขตพิเศษภาคตะวันออก สําหรับสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่านนั้น นอกเหนือไปจากเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสําหรับประชาชนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่รองรับการพัฒนาและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกสามจังหวัดอีกด้วย”
ด้านนายอุตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินถือเป็น 1 ใน 5 โครงการพื้นฐานสำคัญที่จะต้องดำเนินการก่อนโดยจะถือว่าวันพุธที่ 30 พฤษภาคมนี้ เป็นวันเริ่มต้นของโครงการ ซึ่งจะมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้ลงทุนที่มีความสนใจรับเอกสารอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น 3 สัปดาห์จะเปิดขายซองทีโออาร์ และคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไข
สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกผู้ลงทุน 30 พ.ค.-17 มิ.ย. จะมีการประกาศเชิญชวน 9 มิ.ย.ขายเอกสารการประมูล 23 ก.ค. เชิญเอกชนชี้แจง 24 ก.ค. ผู้เข้าร่วมประมูลไปดูพื้นที่จริงตามแนวเส้นทาง และะให้เอกชนยื่นซองเสนอราคา 12 พ.ย. นี้ เอกชนมีเวลาตั้งแต่พุธหน้าถึงเดือนพฤศจิกายนในการเตรียมข้อมูล 5 เดือนนับตั้งแต่ขายเอกสารประกวดราคา
ขณะที่ภายในปีนี้คาดว่าจะดำเนินการหาผู้ที่เหมาะสมได้ เบื้องต้นมีเอกชนที่สนใจทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุน อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทยเท่านั้น
ส่วนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้ในส่วนการเดินรถมี 3 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้บริการอยู่ สำหรับส่วนที่ 2 เป็นการขยายจากเส้นทางมักกะสัน พญาไท บางซื่อถึงดอนเมือง ทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิเชื่อมต่อกัน และช่วงที่ 3 จะเชื่อมต่อท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทางทั้งหมด 220 กิโลเมตร
สำหรับภาคเอกชนที่ร่วมลงทุน จะเป็นผู้เดินรถ ดำเนินการหาแหล่งเงินกู้ และรับภาระจากแอร์พอร์เรลลิงก์ พัฒนาซ่อมบำรุง ตลอดระยะเวลา 50 ปี ให้บริการรวมทั้งหมดมี 15 สถานี โครงการนี้จะใช้รางมาตรฐาน 1.435 เมตร และระบบอาณัติสัญญาณสากล
สำหรับความเร็วหากเป็นสายด่วนอยู่ที่ 250 กม./ชม. แต่ให้เอกชนเสนอในส่วนการเดินรถระหว่างเมืองในรูปแบบที่เหมาะสมได้ โดยขบวนรถไฟในเมืองกำหนดความเร็ว 160 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วปัจจุบันของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขณะที่การให้เอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่มักกะสันขนาด 150 ไร่ และพื้นที่สถานีศรีราชาอีก 25 ไร่เอกชนจะเช่าในราคาตลาดเป็นระยะระยะเวลา 50 ปี
ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีผู้โดยสาร 7 หมื่นคนและเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อจะมีผู้โดยสารเกินวันละแสนคน ซึ่งหากแอร์พอร์ต เรล ลิงก์สามารถให้บริการได้ 9 ขบวนยังสามารถรองรับช่วง 2ปีนี้อย่างเพียงพอ แต่สำหรับเอกชนที่จะร่วมลงทุนวางแผนไว้ว่ามีความจำเป็นต้องซื้อขบวนรถใหม่ โดยให้เอกชนเตรียมการภายใน 2 ปี เพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้อีกด้วย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเมินว่าจะได้ผู้เข้าร่วมลงทุนไม่เกินสิ้นปี ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 5 ปี และตั้งเป้าว่าจะสามารถใช้บริการได้ทั้งระบบได้ในปี 2567
ขณะที่กรณีการประมูลของจีนที่จะเข้าข่ายตามพ.ร.บ.ฮั้วประมูลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าได้สอบถามฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วได้รับการยืนยันว่ากรณีนี้เป็นการร่วมทุน มูลค่า2แสนล้านบาท รัฐบาลมองว่าโครงการนี้สำคัญ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 7 แสนล้านบาท และการร่วมทุนเปิดโอกาสให้มีผู้ร่วมทุนมากเพราะเป็นนานาชาติไม่ใช่จัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องให้บริษัทรัฐวิสาหกิจทำข้อตกลงว่าไม่ได้ฮั้วกัน โดยให้สถานทูตรับรอง เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.