เมื่อโลกปรับเปลี่ยนรับกับการท้าทายใหม่ ๆ ประเทศไทยก็พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จากอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วง Thailand 1.0 ยุคของเกษตรกรรม ที่นำผลผลิตทางการเกษตรไปขายสร้างรายได้และยังชีพ Thailand 2.0 ยุคอุตสาหกรรมเบา ที่เริ่มนำเครื่องมือเข้ามาช่วยในการผลิต จากภาคการเกษตรก็เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม Thailand 3.0 ยุคปัจจุบันเป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก ที่เน้นการผลิตเพื่อขายส่งออกโดยใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ช่วงแรกของ 3.0 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในลักษณะ S-Curve ในช่วงของอีสเทิร์นซีบอร์ด สมัยนั้นไทยเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงรายได้ปานกลาง และหยุดนิ่งอยู่ที่ 3-4% มานานกว่า 20 ปี จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงขึ้น เราจึงต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายสู่ยุค Thailand 4.0 เปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์ไปเป็นสินค้าเชิงนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง คนไทยใช้ Smart Technology และพัฒนาตนเองให้เป็น Smart People
คำถามที่ตามมาคือ จะทำอย่างไร ?
ที่ผ่านมา นโยบายรัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจเรียกได้ว่าเป็น S-Curve แบบเดียวกับเมื่อช่วงอีสเทิร์นซีบอร์ดและหยุดนิ่งมานาน จนมีการคิดสร้างรถไฟความเร็วสูง กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ให้การเดินหน้าประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ต่อยอดผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบ S-Curve เดิมหรือ First S-Curve ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่
ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร ต่อยอดเพิ่มเป็น New S-Curve ใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร เพิ่มเข้ามา
จากที่กล่าวมาพื้นฐานทางอุตสาหกรรมอยู่ที่ภาคตะวันออก ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่พร้อม เป็นทำเลที่ดีเหมาะสม การพัฒนาจึงเน้นไปที่นี่ โดยกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตและการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
ส่งผลให้เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New Engines of Growth) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ การพัฒนาจึงต้องอาศัยการเชื่อมโยงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมทั้งทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศเข้าด้วยกัน เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ EEC สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ดังกล่าวข้างต้นตามนโยบายของภาครัฐ แม้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกดูเหมือนว่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิมอยู่
ทั้งการสาธารณูปโภค พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ระบบการขนส่งทางบก ทางราง ทางอากาศและทางน้ำ แต่ทว่าเมื่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออกขยายตัว ระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิมโดยเฉพาะด้านการขนส่งจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอย่างยั่งยืนบนยุทธศาสตร์ประเทศไทย4.0 นั้น มุ่งเน้นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) โดยจะมีไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ 8 ด้าน ได้แก่ (1) ศูนย์กลางการบิน (2) ศูนย์กลางการขนส่ง (3) ศูนย์กลางทางการค้า (4) ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูง
(5) ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (6) ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและด้านสารสนเทศการสื่อสาร (7) ศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก และ (8) มหานครแห่งอนาคต เป็นศูนย์กลางการลงทุน การขนส่งของภูมิภาค แหล่งบุคลากร เป็นประตูสู่เอเชีย (Gate-way to Asia)
การคมนาคมที่พร้อมและทันสมัย ในการกระจายสินค้าและรองรับผู้โดยสารในทุกรูปแบบการขนส่ง สนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ EEC จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานขึ้นรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 โครงการหลักที่รัฐจะเร่งรัดการก่อสร้างให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน ชี้แจงไว้ในการสัมมนาเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาว่าจะประกอบด้วย
1.ขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภา บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 15 ล้านคนต่อปีใน 5 ปีไปเป็น 60 ล้านคนต่อปีในอีก 15 ปี และสร้างให้เป็นเมืองการบินของภาคตะวันออก สร้างศูนย์การซ่อมและสร้างเครื่องบินของภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ต้องระดมทั้งทุนและคนเก่งที่สุดของโลกมารวมตัวกันอยู่ที่ประเทศไทย
2.สร้างรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมต่อ3 สนามบิน สามารถเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังสนามบินสุวรรณภูมิภายในเวลา 45 นาที และสามารถเดินทางไปถึงสนามบินดอนเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ
3.การพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นท่าเรือชั้นนำระดับ 1 ใน 10 ของโลก
4.รถไฟทางคู่ สำหรับการขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ที่จะเชื่อมการขนส่งเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ EEC เป็นโอกาสดีที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทบทวนและเร่งรัดการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงให้เชื่อมโยงเข้ากับระบบรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เดินรถอยู่ในปัจจุบัน บูรณาการและเชื่อมต่อทั้ง 2 ระบบเข้าด้วยกันให้ได้อย่างสมบูรณ์
ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และเดินทางต่อเข้าไปถึงสนามบินดอนเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการเปลี่ยนขบวนรถทั้งไปและกลับ ให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ย่นเวลาการเดินทางระหว่าง 3 สนามบินเหลือเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ และสามารถลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลได้
ตามแผนพัฒนาเดิม มีการวางแผนให้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จากสถานีพญาไท ไปยังสถานีบางซื่อ และต่อไปยังสถานีดอนเมือง จากการศึกษาพบว่ามีจำนวนผู้โดยสารน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน การเชื่อมต่อระบบรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน จะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการระหว่างสถานีพญาไทไปถึงสถานีดอนเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงเป็นการแก้ไขปัญหาของการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเมืองในเส้นทางนี้อีกด้วย
แม้ว่าจะต้องมีการปรับและแก้ไขข้อจำกัดทางด้านเทคนิคต่าง ๆ อีกหลายประการ เช่น ระยะห่างระหว่างราง ความเร็วในการเดินรถ ขนาดของตัวรถ และความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างเดิม รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกัน
การเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบนี้เข้าด้วยกัน จะทำให้มูลค่าการลงทุนของโครงการสูงขึ้น แต่เมื่อได้พิจารณาถึงการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของระบบขนส่งสาธารณะทางราง และประชาชนได้ประโยชน์แล้วก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
โอกาสจากการมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก่อให้เกิดความเจริญสร้างงานสร้างรายได้ มีการพัฒนาเมืองใหม่ ลดความแออัดในเมืองหลวง เป็นสิ่งที่ทุกคนหวังให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยผู้วางแผนที่ยึดถือประโยชน์ของชาติ และการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ เมื่อเวลานั้นมาถึงเศรษฐกิจไทยก็พร้อมเติบโตก้าวไกลสร้างสถิติใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.