ยังคงเป็นที่จับตาเมื่อวาระสุดท้าย “รัฐบาล คสช.” มาถึงในปี 2560 รถไฟสายการทูต “ไทย-จีน-ญี่ปุ่น” จะไปได้สุดทางจนเห็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกลงเข็มภายในปีนี้ ตามที่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีได้ลั่นวาจาได้หรือไม่
ขณะที่รถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลไทยจะดึงเอกชนระดับมหาเศรษฐีของไทยลงทุนแบบ PPP อีก 2 เส้นทาง “กรุงเทพฯ-ระยอง กับกรุงเทพฯ-หัวหิน” มูลค่า 247,201 ล้านบาท ก็เป็นที่จับตาเช่นกัน
ปัจจุบันสถานะรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง กำลังเดินหน้าหาข้อสรุปสุดท้าย ก่อนชง “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติโครงการ ซึ่ง “รถไฟไทย-จีน” ได้ประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 10 วันที่ 11-12 พ.ค. ที่ประเทศจีน มี “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคม นำทีมเจรจากับจีน หาข้อสรุปลดค่าก่อสร้างจาก 2.3 แสนล้านบาท อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท รวมถึงรูปแบบการลงทุนฝ่ายจีนจะร่วมลงทุนส่วนไหน หลังรัฐบาลไทยประกาศจะลงทุนเอง พร้อมปรับรูปแบบโครงการจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูง นำร่องก่อสร้างกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 250 กม. เป็นลำดับแรก
ว่ากันว่าถึงไทยจะเร่งรัดทุกสิ่งอย่างจบโดยเร็ว แต่มีแนวโน้มสูงที่จะยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว โดยเฉพาะค่าก่อสร้างที่เป็นไปได้ยากจะกดลงมาเหลือ 1.7 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รถไฟไทย-จีนหลังตรวจสอบรายละเอียดทั้งฝ่ายไทยและจีนล่าสุด ค่าก่อสร้างจากกรุงเทพฯ-โคราชอยู่ที่ 1.9-2 แสนล้านบาท เพราะที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาศึกษาให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังไม่ได้รวมค่าก่อสร้างช่วงภาชี
“จีนยอมลดค่าก่อสร้างลง 2 หมื่นล้านบาท หลังไทยปรับเป็นไฮสปีดเทรน โดยยกเลิกก่อสร้าง 3 สถานี คือ ภาชี แก่งคอย และโคกสะอาด เหลือ 5 สถานี มีกรุงเทพฯ อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และโคราช อีกทั้งปรับขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเชียงรากน้อย และขยับแนวใหม่ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี ประมาณ 80 กม. เลี่ยงท่อก๊าซของ ปตท.และช่วงลำตะคอง ส่วนการก่อสร้างขยับเป็น ก.ย.-ต.ค.นี้ แต่อาจจะเป็นไปได้ยาก อาจจะขยับถึงปี′60”
ส่วนรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” โครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น “อาคม” ระบุว่า มิ.ย.นี้ที่ปรึกษาญี่ปุ่นจะส่งรายงานการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่มีการหารือรูปแบบการลงทุน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ญี่ปุ่นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูง อาจจะเริ่มสร้างจากกรุงเทพฯถึงอยุธยา หรือลพบุรีก่อน เพื่อดูประมาณการผู้โดยสารและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ก่อนจะตัดสินใจลงทุนสร้างไปพิษณุโลกและเชียงใหม่ ส่วนแนวเส้นทางจากพิษณุโลกถึงเชียงใหม่จะผ่านสุโขทัยตามผลศึกษาเดิมหรือไม่ ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเพราะอยู่ใกล้สนามบินสุโขทัย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่ สนข.ศึกษาไว้ ลงทุน 426,898 ล้านบาท กำลังรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แบ่งสร้าง 2 เฟส จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 384 กม. และพิษณุโลก-เชียงใหม่ 285 กม. จะเป็นเส้นทางตัดใหม่ช่วงสุโขทัย-ลำปาง
นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 10 พ.ค. บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 94,673 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 152,528 ล้านบาท โดยลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost รัฐจะลงทุนค่าเวนคืนและค่าก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนจะลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ขบวนรถ ดำเนินการเดินรถและบำรุงรักษา โดยรับสัมปทานจัดเก็บค่าโดยสารมีทั้ง 25 ปี 30 ปี 35 ปี และ 40 ปี
“กรุงเทพฯ-ระยอง เอกชนลงทุน 45,379 ล้านบาท รัฐลงทุนกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท ส่วนกรุงเทพฯ-หัวหินเอกชนลงทุน 21,841 ล้านบาท รัฐลงทุน 66,920 ล้านบาท”
หลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา 60 วัน จากนั้นส่งให้คณะกรรมการ PPP อนุมัติเดือน มิ.ย.นี้ เพราะโครงการอยู่ใน PPP Fast Track ก่อนจะเสนอ ครม.อนุมัติ คาดว่าปีนี้จะเปิดประมูลและเริ่มสร้างปี 2560
ที่มา: ประชาชาตฺิธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.