นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีหน้าธนาคารตั้งเป้าเป็น Regional Settlement and Investment โดยวางโครงสร้างการชำระเงินในกลุ่ม AEC+3 และสกุลเงินหลักทั่วโลก พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับฟินเทคและใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีในการสร้างช่องทางชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับลูกค้าโดยเน้นการรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก ธนาคารตั้งงบลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปีหน้า 5,000 ล้านบาท
นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าเพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายสกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ธนาคารจะออกแคมเปญกระตุ้นตลาดในปี 2560 เพื่อสื่อสารถึงลูกค้าและผู้ประกอบการให้ทำธุรกรรมซื้อขายและทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นได้โดยตรง ซึ่งช่วยกำหนดต้นทุนหรือลดต้นทุนให้ลูกค้าได้ดีขึ้น และลดความผันผวนจากตลาดเงินโลกที่จะมากระทบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
“เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มักจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและมีความผันผวนค่อนข้างมาก”
ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยให้บริการใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายโดยได้ครบทั้ง 10 สกุลในอา เซียน ทั้งริงกิตมาเลเซีย ด่องเวียดนาม เรียลกัมพูชา รูเปียอินโดนีเซียเปโซฟิลิปปินส์ ดอลลาร์สิงคโปร์ ดอลลาร์บรูไนจ๊าตเมียนมา และกีบลาว
นอกจากนี้ยังให้บริการเงินหยวนของจีนและได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารวีทีบี ธนาคารอันดับ 2 ของรัสเซีย เพื่อซื้อขายสกุลเงินรูเบิล เป็นการรองรับอนาคตการค้าระหว่างไทยและรัสเซียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
“รัสเซียนำเข้าสินค้าไทยในส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค และไทยมีนำเข้าพลังงานและก๊าซจากรัสเซีย หากมีการซื้อขายโดยตรงผ่านสกุลเงินท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุน คาดว่าปีหน้าปริมาณธุรกรรมซื้อขายสกุลเงินรูเบิลรัสเซียจะมีมากขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ”
ธุรกรรมเงินหยวนในปี 2558 มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านหยวน คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการค้า ส่วนริงกิตมาเลเซีย มูลค่าธุรกรรมยังไม่มาก หลังเปิดดำเนินการได้ปีกว่าๆยอดปี2558 เพียง 8 ล้านริงกิต แต่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวมากกว่า 300%
แนวโน้มธุรกิจต่างประเทศในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยจะเน้นการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยทำธุรกิจการเงินให้ง่ายขึ้น โดยร่วมมืออย่างแข็งขันกับอาลีบาบาของนายแจ็ค หม่า และร่วมมือกับวิง(WING) ผู้ให้บริการโอนเงินรายใหญ่ของกัมพูชา
ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอล แบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้วาง 2 กลยุทธ์ เพื่อรองรับธุรกรรมการโอนเงินข้ามประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กลยุทธ์แรกการดึงฟินเทคมาร่วมเป็นพันธมิตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับฟินเทค 2 ราย เพื่อให้บริการโอนเงินข้ามชายแดน (Cross Border Payment) ระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ หรือธุรกิจและลูกค้า คาดว่าภายหลังทดสอบระบบน่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2560
กลยุทธ์ที่ 2 ดำเนินการโดยธนาคารเองไม่ร่วมกับฟินเทค แต่จะผนึกธนาคารพันธมิตรในเครือข่ายซีแอลเอ็มวี โดยจะเริ่มจากประเทศเมียนมา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา 1-2 แห่งที่จะทดสอบระบบร่วมกัน พิจารณาโมเดลธุรกิจ และกลุ่มเป้าหมาย
เบื้องต้นธนาคารจะเน้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าแรงงานเมียนมาประมาณ 70%จะส่งเงินกลับประเทศ วงเงินเฉลี่ยการโอนอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อครั้งต่อเดือน โดยจะขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและเริ่มให้บริการได้ในปลายไตรมาสแรกปี 2560 จะให้บริการโอนเงิน 3 ช่องทาง ได้แก่ สาขา เครื่องเอทีเอ็ม และโมบายแบงกิ้ง
“ปีหน้าเราจะทำเรื่องการโอนเงินข้ามชายแดน พวก Cross Border Payment มีอยู่หลายโมเดลที่สามารถทำได้ แต่ที่แบงก์จะทำ จะเป็นการร่วมมือกับฟินเทคและแบงก์ท้องถิ่น ร่วมทำระบบตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบคาดว่าปีหน้าจะสามารถเปิดได้ทั้งบุคคลและธุรกิจ”
ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจการโอนเงินต่างประเทศ ที่ประชาชนนิยมใช้บริการหลักใน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.ธนาคารหรือสถาบันการเงินในระบบ 2.ระบบบุคคลที่สาม เช่น Western Union หรือ Money Gram เป็นต้น 3.ระบบปิด เช่น โพยก้วน และ 4.อิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์อื่นๆ เช่น PayPal, AliPay,Bitcoin เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.