แบงก์ขยาดหนี้เสียรายย่อยไหลกลับ “ไทยพาณิชย์-กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” ขึ้นบัญชีดำลูกหนี้เอ็นพีแอลตัดสิทธิ์ยื่นขอสินเชื่อ-บัตรเครดิต 2 ปี “เครดิตบูโร” เผยสถาบันการเงินสกรีนเข้มเช็กประวัติลูกค้ายิบกว่า 42 ล้านครั้งต่อปี ด้าน ธปท.เร่งหามาตรการคุมหนี้เสียคนเจนวาย
แบงก์ลอยแพลูกหนี้ NPL
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินต่าง ๆ หากเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดตามที่สถาบันการเงินวางไว้ ลูกหนี้กลุ่มนี้ก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ธนาคารนั้น ๆ ได้เลยในทันที เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้สถาบันการเงินอาจระมัดระวังในการคัดเลือกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ดังนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สถาบันการเงินมองว่ามีโอกาสย้อนกลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลได้อีก
ดังนั้นแม้ว่าจะหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสียแล้ว แต่ในความเป็นจริง เวลาแบงก์จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องใช้เวลาดูใจถึง 24 เดือน ซึ่งต่างกับช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี ที่แบงก์อาจลดระยะเวลาการกลับเข้ามาเป็นลูกค้าธนาคารได้เร็วกว่าคือ 1 ปี นับจากชำระหนี้เสร็จสิ้น หรือเร็วสุดคือ 6 เดือน
“ปัจจุบันแบงก์ก็ยังเข้มกับลูกหนี้เอ็นพีแอลในสินเชื่อทุกประเภท แม้จะเคลียร์หนี้ได้ เพื่อขอกู้ใหม่ แบงก์ก็ยังไม่วางใจ เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่กลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีก”
นายสุรพลกล่าวว่า แบงก์ต้องระวังความเสี่ยงสูงขึ้น สกรีนลูกค้าที่ละเอียดรอบคอบมากขึ้น โอกาสที่จะกลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้งในเวลารวดเร็วนั้นยาก ต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน หรือหากต้องการได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น ก็จะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ผู้ค้ำประกันร่วม หรือหลักทรัพย์ สินทรัพย์ เงินฝากในบัญชี เพื่อให้แบงก์มั่นใจว่า หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นอีก แบงก์จะสามารถเข้าไปยึดหลักทรัพย์เหล่านี้ได้
เช็กประวัติยิบ-สกรีนเข้ม
นายสุรพลกล่าวต่อว่า ข้อมูลสำคัญอีกประการที่บ่งบอก ว่าสถาบันการเงินคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้าค่อนข้างมากในปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะลูกค้าเก่า ซึ่งพบว่าสถาบันการเงินทั้ง 94 แห่งที่เป็นสมาชิกอยู่ในศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรเข้ามาดูประวัติของลูกหนี้เก่าของธนาคารเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42 ล้านครั้ง จากปี 2558 ที่มีการเข้ามาดูข้อมูลลูกค้าเพียง 32 ล้านครั้ง จึงเป็นตัวสะท้อนได้ว่า แบงก์ยังคงระวังและกลัวความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้เก่า ๆ จึงต้องดูข้อมูลลูกค้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาเห็นการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินค่อนข้างสูง
“ข้อมูลตัวนี้บอกเราว่า การกลับมาดูข้อมูลเก่าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะแบงก์ไม่สบายใจในคุณภาพสินเชื่อที่ผ่านมา บวกกับเศรษฐกิจโตช้า ทำให้ลูกค้าเก่ามีหนี้เยอะ และรายได้ไม่มากพอ ดังนั้นความสามารถในการชำระหนี้จึงมีปัญหา” นายสุรพลกล่าว
นายสุรพลกล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีอัตราการค้างชำระหนี้ และเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าเจน Y (อายุ 19-36 ปี) และกลุ่มเจน X (อายุราว 37-51 ปี) ทั้งคาดว่าจะเห็นอัตราการค้างชำระและเป็นเอ็นพีแอลสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2560 เช่นกัน
นายสุรพลยังกล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์ล่าสุดของ ธปท.ที่ประกาศให้น็อนแบงก์มีการขยายการปล่อยสินเชื่อไปสู่ธุรกิจรายย่อย เช่น ภาคธุรกิจรายย่อยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกลุ่ม จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงสินเชื่อบุคคลเท่านั้น ก็เพื่อทำให้การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มนี้ชัดเจนมากขึ้น เพราะอดีตต้องยอมรับว่า การใช้สินเชื่อสำหรับบุคคลและผู้ประกอบการรายย่อยยังมีความปนเปกันอยู่ค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการอาจนำเงินสินเชื่อส่วนบุคคลไปใช้เพื่อหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งทำให้อาจดูผิดวัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้อยู่บ้างในอดีต ซึ่งแบงก์อาจไม่สามารถตอบ ธปท.ได้ เวลาสินเชื่อดังกล่าวลูกค้านำไปใช้ได้อย่างไร ถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่ประกาศดังกล่าวทำให้ในด้านกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น
แบล็กลิสต์ตัดสิทธิ์เป็นลูกค้า 2 ปี
นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลลูกค้าที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เบื้องต้นธนาคารจะตัดสิทธิ์การใช้บัตรตั้งแต่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ 1 เดือนเป็นต้นไป สำหรับลูกหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ยังไม่ได้ตัดสิทธิ์ความเป็นลูกค้าธนาคาร คือลูกหนี้กลุ่มนี้ยังจะใช้บัตรเครดิตของธนาคารต่อไปได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ แต่สำหรับลูกค้าเอ็นพีแอล ธนาคารมีการตัดสถานะลูกหนี้ดังกล่าว ออกจากการเป็นลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารทันที โอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาเป็นลูกค้าธนาคารได้อีกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
หากลูกค้าต้องการกลับมาใช้บริการก่อนกำหนด ลูกค้าอาจต้องแสดงความสามารถในการสร้างรายได้เพิ่มเติม หรือต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เช่น บัญชีเงินฝากที่มียอดสะสมเพื่อเป็นการการันตีว่า หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ แบงก์จะสามารถเข้าไปยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ทันที โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาและต้องออกจากระบบธนาคาร ปัจจุบันพบว่าอยู่ราว 16% ของมูลค่าเอ็นพีแอลบัตรเครดิตการ์ด
ด้านนางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การดูแลลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล หรือมีแค่ประวัติค้างชำระ โดยปกติธนาคารจะให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อกลับไปเป็นลูกค้าปกติของธนาคาร แต่หากลูกหนี้รายดังกล่าวค้างชำระหนี้อีก ธนาคารก็อาจมีการเลื่อนชั้นลูกหนี้ดังกล่าวเป็นเอ็นพีแอลได้ทันที ดังนั้นกลุ่มนี้แบงก์จึงต้องระวังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็นพีแอลรวมของธนาคารยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นปีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.67% ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอาชีพอิสระและสินเชื่อบ้านที่ยังเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับนางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า กรณีลูกหนี้เอ็นพีแอลและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มนี้แบงก์จะตัดสถานะการเป็นลูกหนี้ของบริษัทออกทันที แม้ชำระหนี้หมดแล้วแต่ก็จะไม่สามารถใช้บัตรได้อีกต่อไป ลูกหนี้กลุ่มนี้จะกลับมาเป็นลูกค้าบริษัทอีกครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี บริษัทถึงจะพิจารณาให้เป็นลูกค้าได้ โดยลูกหนี้กลุ่มที่มีปัญหาและถูกตัดออกจากระบบของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ราว 20% ของหนี้เอ็นพีแอล
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ กล่าวว่า สำหรับลูกค้าที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหลังเป็นเอ็นพีแอลแล้ว บริษัทจะตัดสิทธิ์การเป็นลูกค้าบริษัททันทีหลังมีการชำระหนี้เสร็จสิ้น ซึ่งทำให้หมดโอกาสกลับมายื่นขอสินเชื่อจากบริษัทได้อีกในอนาคต เนื่องจากบริษัทมองว่ากลุ่มนี้มีประวัติค้างชำระมาแล้ว ดังนั้นในอนาคตก็อาจกลับมาได้อีก
ขณะที่นายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สำหรับลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอลและเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารนั้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย เช่น สินเชื่อบุคคล ธนาคารไม่ได้ตัดสิทธิ์การกลับมาของลูกค้า หากพิสูจน์ให้แบงก์เห็นความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากแบงก์ก็อยากให้โอกาสลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อธปท.
เร่งคุมหนี้เสียคนเจนวาย
นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ตั้งเป้าจะลดอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในกลุ่มเจนวายให้เติบโตต่ำกว่า 5% ภายใน 3 ปี เนื่องจากการเติบโตของบัญชีหนี้เสียคนเจนวาย ในช่วงปี 2556-2558 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 5.79% และคิดเป็นจำนวนที่ผิดนัดชำระถึง 1.49 ล้านบัญชี นอกจากนี้ยังพบว่าคนเจนวายที่มีอายุตั้งแต่ 29 ปีลงมามีหนี้สูงถึง 1 ใน 5 ของปริมาณหนี้เสียทั้งหมด
ปัญหาการขยายตัวของบัญชีหนี้เสียกลุ่มคนเจนวายที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นแนวโน้มที่ไม่ดีเพราะอาจเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในอนาคต ทั้งด้านการขยายตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดย ธปท.จะมีความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ความรู้ทางการเงินกับกลุ่มคนเจนวาย โดยที่ผ่านมาก็ได้เข้าไปให้ความรู้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในงานปัจฉิมนิเทศของนักศึกษาปี 4
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.