มีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับ ภายหลังที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีการเร่งดำเนินงานการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใน 5 โครงการหลักไปเรียบร้อยแล้ว
ดันเป็นฮับการบินภูมิภาค
โดยจะประกาศให้พื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมอีอีซี และยกระดับให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะมีการระดมการลงทุนในในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก 1 ทางวิ่ง การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนในระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมทั้ง การลงทุนในกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคคลกรอากาศยานและการบิน
ทั้งนี้ การดำเนินงานมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ซึ่งทางกองทัพเรือและบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์กันไปแล้ว ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะที่ 1 ความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและ โลจิสติกส์ ระยะที่ 1 และความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ระหว่างกองทัพเรือและสถาบันการบินพลเรือน อีกทั้ง การบินไทย ได้ลงนามเอ็มโออยู่กับบริษัท แอร์บัส เพื่อศึกษาการลงทุนซ่อมเครื่องบิน และอู่ซ่อมเครื่องบินอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการประกาศเชิญชวนผู้ลงทุนทั่วโลกในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯยังเห็นชอบ ให้มีการปรับปรุงระบบขนส่งทางราง ให้รถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออก ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบิน โดยให้บริการในเส้นทางร่วมกับรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์(พญาไท-สุวรรณภูมิ) และแอร์พอร์ทลิงค์ส่วนขยาย(พญาไท-ดอนเมือง และเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกสามารถเชื่อมโยง 3 สนามบินโดยเร็ว
เปิดตัวนักลงทุนในอีอีซี
ขณะที่การชักจูงนักลงทุนรายสำคัญมาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า มีนักลงทุนที่แสดงเจตจำนงหรือแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีแล้ว 15 รายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไบโออีโคโนมี รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิตัล และศูนย์การแพทย์ ซึ่งได้มีการเปิดตัวกลุ่มที่จะเข้ามาลงทุนและได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลาซาดาและอาลีบาบา ที่ยืนยันว่า จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค หรือแม้แต่การลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีบีเอ็มดับบลิว ยืนยันที่จะขยายการลงทุนพร้อมกับการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) บริษัท บริดจสโตน บริษัท Ducati บริษัท อิวอนิก บริษัท กูเกิน บริษัท หัวเว่ย บริษัท Alibaba บริษัท ไม่โครซอฟท์ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท Senior Aerospace บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ
ส่วนนักลงทุนเป้าหมายที่เวลานี้ได้มีการตั้งทีมเข้าไปเจาะเป็นรายบริษัท แล้วเช่น กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ จะมีบริษัท เทสลา บริษัท ซูซูกิ บริษัท เมอซิเดส เบนซ์ บริษัท Shanghai Motor เป็นต้น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น บริษัท Foxconn กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น บริษัท Reliance group กลุ่มเมดิคัลฮับ เช่น บริษัท ฟูจิฟิล์มฯ เป็นต้น
ตั้งเขตพัฒนาเทคโนโลยี
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาเขตเทคโนโลยีระดับโลกของประเทศ 2 แห่ง ไก้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ โดยจะเช่าพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในระยะแรก 350 ไร่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขน โดยจะเชิญชวนให้เกิดการลงทุนของเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ก็ได้มีการลงนามเอ็มโอยูกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศจำนวน 20 บริษัท ภาครัฐ 11 หน่วยงาน และสถาบันการศึกษา 14 สถาบัน ที่จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนให้แล้วเสร็จในระยะ 1 ปีนี้
รวมถึงเขตวัตกรรมดิจิตัลภาคตะวันออก บนพื้นที่ 800 ไร่ ของสถานีดาวเทียมและเคเบิลใต้น้ำ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และสร้างนวัตกรรมดิจิตัลขึ้นมา โดยทั้ง 2 แห่ง จะมีการนำเสนอประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อไป เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชั้นนำของโลกทั้งไทยและต่างประเทศเขามาทำงาน และประกอบธุรกิจไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง
โดยทั้ง 5 โครงการเร่งด่วนนี้ ทางรัฐบาลหวังว่าจะเป็นโครงการนำร่องที่จะทำให้การพัฒนาอีอีซีไปสู่การลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้าให้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.