เจ้าสัวเจริญรื้อกรุที่ดิน-อสังหาฯ จัดพอร์ตบริหารใหม่ รับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ แห่ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลแค่เดือนเดียว 178 บริษัท กระจายการถือครองแลนด์แบงก์ที่กว้านซื้อตุนเก็บไว้เหนือจรดใต้ ตั้งทีมคุมบริหารเป็นรายกลุ่มธุรกิจ รายทำเล ชูธงพัฒนาอสังหาฯ แหล่งท่องเที่ยว เกษตรเชิงศิลปวัฒนธรรม พับแผน “เกษตรประชารัฐ” นักกฎหมายชี้ช่วยลดภาระภาษีที่ดิน-มรดก แยกธุรกรรมไม่ให้โยงถึงบริษัทแม่
การผลักดันบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีจากการถือครองทรัพย์สินทั้งที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ อย่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ต้องปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการจัดพอร์ตการบริหารจัดการใหม่ นำที่ดินและอสังหาฯในมือมาใช้ประโยชน์ ไม่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อบรรเทาภาระภาษี ขณะเดียวกันก็เสาะหาโอกาสช่องทางในการทำธุรกิจ การค้า อุตสาหกรรมสร้างรายได้เพิ่มควบคู่กันด้วย
หลังทยอยเปิดตัวโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบทั้งที่อยู่อาศัยโรงแรมออฟฟิศ ศูนย์การค้า ฯลฯ ในทำเลไข่แดงย่านใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาทอย่างต่อเนื่องช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งเปิดตัว วัน แบงค็อก (One Bangkok) โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซ มีทั้งอาคารสำนักงาน รีเทล ลักเซอรี่เรซิเดนซ์ ให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ ศตวรรษที่ 21 ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศ ต่างประเทศ อีกนับไม่ถ้วน ล่าสุด อาณาจักรตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังเร่งจัดพอร์ตสินทรัพย์ที่ดินกับอสังหาฯ ที่ทยอยซื้อเก็บไว้กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดนับแสนไร่ทั่วประเทศ โดยยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทรองรับจำนวนมาก
ตั้ง 200 บริษัทถือครองที่ดิน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบการจดทะเบียน จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์-เมษายน 2560) กลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 200 บริษัท โดยเฉพาะเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีการจดทะเบียนบริษัทใหม่เพิ่มกระจุกตัวมากถึง 178 บริษัท ส่วนที่เหลือเป็นการจดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าที่ตั้งขึ้นของบริษัทใหม่ทั้งกว่า200บริษัทดังกล่าว ส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ที่ 288-288/1-9 ถนนสุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกันกับ บริษัท พรรณธิอร จำกัด ที่เป็นกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของนายเจริญ
จัดพอร์ตแลนด์แบงก์ กทม.-ตจว.
สำหรับรายชื่อบริษัทที่ตั้งใหม่ อาทิ กลุ่มบริษัท นอร์ธปาร์ค ภูมิพัฒน์ จำกัด ที่มีมากถึง 81 บริษัท โดยแต่ละบริษัทจะใช้ชื่อขึ้นต้นด้วย นอร์ธปาร์ค ภูมิพัฒน์ และต่อท้ายด้วยเลข 1 หรือ 2 หรือ 3 กลุ่มบริษัท นวมินทร์ ภูมิพัฒน์ มีจำนวน 32 บริษัท กลุ่มบริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ อีก 23 บริษัท กลุ่มบริษัท พญาเม็งรายพัฒนา จำกัด 11 บริษัท กลุ่มบริษัท บางบาลพัฒนกิจ จำนวน 10 บริษัท กลุ่มบริษัท ท่าเสาการเกษตร อีก 10 บริษัท กลุ่มบริษัท ปลวกแดงการเกษตร จำนวน 8 บริษัท กลุ่มบริษัท หนองโพรงการเกษตร 6 บริษัท กลุ่มบริษัท วิเชียรบุรีพัฒนา 5 บริษัท กลุ่มบริษัท เขาใหญ่ ภูมิพัฒน์ 4 บริษัท
นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นเดี่ยว ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้ชื่อบริษัทเป็นชื่อเดียวกับสถานที่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทำเลที่ตั้งของที่ดินที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น บริษัท ปักธงชัยการเกษตร จำกัด, บริษัท เมืองสิงห์การเกษตร จำกัด, บริษัท เขาหินซ้อนพัฒนกิจ จำกัด เป็นต้น
โดยแต่ละบริษัทที่จัดตั้งขึ้น มีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 100,000 บาท และมีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการ เป็นการประกอบกิจการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อ จัดหา รับ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ และจัดการโดยประการอื่น ซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ตลอดจนดอกผลของทรัพย์สินนั้น
ตั้งทีมแยกบริหารตามกลุ่มพื้นที่
นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่าหลายๆบริษัทมีกรรมการผู้มีอำนาจ เป็นกลุ่มบุคคลคนเดียวกัน เช่น บริษัท เขาหินซ้อนพัฒนกิจ จำกัด บริษัท คลองกิ่วพัฒนา จำกัด บริษัท คลองขลุงพัฒนา จำกัด บริษัท ทับสะแกพัฒนกิจ จำกัด กลุ่มบริษัท วิเชียรบุรีพัฒนา จำกัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชื่อทำเลที่ตั้งที่ดินในต่างจังหวัด กรรมการผู้มีอำนาจ ประกอบด้วย นายสญชัย อัศวเลิศพลากร, นายมนตรี ศรีสกุลเมฆี, นางสาวเอมอร วงษ์ศิริ, นายวิโรจน์ เจนจิราวงศ์, นางสาวอัญชลี เตมีรักษ์ และนางสาวดวงใจ ดำรงวงศ์
ขณะที่กลุ่มบริษัทกลุ่มบางไทร ภูมิพัฒน์ และกลุ่มบริษัทเขาใหญ่ ภูมิพัฒน์ และชะอำ ภูมิพัฒน์ ทำเลที่ตั้งของที่ดินอยู่ในพื้นที่บางไทร เขาใหญ่ และชะอำ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนา กรรมการผู้มีอำนาจเป็นกลุ่มเดียวกัน ประกอบด้วย นายชัยภัทร เขมาภิรักษ์ นายสญชัย อัศวเลิศพลากร น.ส.พัชรี ฉายภมร และนายนภดล ธัชศฤงคารสกุล โดยเจ้าสัวเจริญมีที่ดินแถบชะอำ จ.เพชรบุรี กว่า 1 หมื่นไร่ เขาใหญ่ กว่า 2 หมื่นไร่
ส่วนกลุ่มบริษัท นอร์ธปาร์ค ภูมิพัฒน์ กลุ่มบริษัท นวมินทร์ ภูมิพัฒน์ ในทำเลนอร์ธปาร์ค กับนวมินมร์ ใน กทม. กรรมการประกอบด้วย นายชัยภัทร เขมาภิรักษ์ นายมนตรี ศรีสกุลเมฆี น.ส.พัชรี ฉายภมร และนางกุลจิรา วงศ์พวก เนื่องจากเจ้าสัวเจริญมีที่ดินในโครงการนอร์ธปาร์ค 200-300 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส รับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีชมพู ทำเลนวมินทร์มีที่ดินกว่า 300 ไร่ จะพัฒนาเป็นอสังหาฯเชิงท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม
ส่งมือโปรคุมเบ็ดเสร็จ
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการผู้มีอำนาจจะพบว่า หลาย ๆ คนเป็นกรรมการในลักษณะที่ไขว้กันไปไขว้กันมาหลายบริษัท นอกจากนี้จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังพบว่า รายชื่อกรรมการทั้งหมดดังกล่าวยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจของนายเจริญอีกมากกว่า 100 บริษัท ซึ่งทยอยจดทะเบียนตั้งบริษัทมาตั้งแต่ช่วงปี 2556-2559 และเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในแง่ของการพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
อาทิ กลุ่มบริษัท กรีนแลนด์ จำกัด บริษัท ทรัพย์มหากิจ จำกัด กลุ่มบริษัท เดอะ คอมเพล็กซ์ จำกัด กลุ่มบริษัท ทรัพย์เพิ่มพูน จำกัด กลุ่มบริษัท เดอะเรสซิเด้นส์ จำกัด บริษัท สหหมิงฮั้วพาณิชย์ จำกัด บริษัท วัฒนพัฒน์ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ทรัพย์สมหวัง จำกัด เป็นต้น
ให้เกษตรกรเช่าที่หมื่นไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเดือนมกราคม 2560 บริษัท วัฒนพัฒน์ เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่นความประสงค์ขอจัดทำโครงการภายใต้แนวทางประชารัฐ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเสนอจะนำที่ดิน 10,700 ไร่ ที่ปัจจุบันเป็นที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ เพชรบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ และอุทัยธานี มาจัดทำโครงการที่ทำกินให้กับเกษตรกรภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมก่อสร้างบ้านพักอาศัยลักษณะเดียวกันกับบ้านเอื้ออาทร สำหรับให้เกษตรกรใช้เป็นพักอาศัยเพื่อทำการเกษตร
โดยหน่วยงานรัฐและบริษัทดังกล่าวจะให้การสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตจากนั้นจะแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรกับบริษัทเอกชนเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพร้อมยกร่างข้อตกลงประชารัฐแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันบนที่ดินเอกชน อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า โครงการนี้ได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากการหารือร่วมกันบางประเด็นไม่สามารถหาข้อยุติได้
ชี้ลดภาระภาษีที่ดิน-มรดก
แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่าสาเหตุที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ยื่นขอจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลเพิ่มจำนวนมากในช่วงนี้ เป็นไปได้ว่าการแยกจัดตั้งบริษัทย่อย ๆ ไปถือครองที่ดินหรือทรัพย์สิน เพื่อแยกธุรกรรมไม่ให้โยงถึงบริษัทแม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยลดภาระภาษี ทั้งในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และอาจรวมถึงกรณีภาษีมรดกด้วย เพราะหากที่ดินหรือทรัพย์สินที่รวมอยู่ในบริษัท หรือโฮลดิ้งรวม อาจทำให้ภาระภาษีเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้การทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินหรือทรัพย์สินจะดำเนินการได้โดยสะดวก
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.