ผลพวงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ฉุดเศรษฐกิจชะลอ! ค่าหยวนอ่อนกระทบความสามารถชำระหนี้ภาคเอกชนจีน … อสังหาฯไทยโดนหางเลขกำลังซื้อหด 10% ส่งออกพิษบาทแข็ง แข่งขันลำบาก
ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ และ 6.3% ในปี 2562 และความกังวลดังกล่าวยังกดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องถึง 9% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 10 ปี ถึงแม้จีนยังคงเกินดุลการค้าและรัฐบาลจีนเองก็พยายามออกมาตรการต่าง ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
ความเสี่ยงหลัก ๆ ของจีน คือ ปัญหาหนี้สะสม ทำให้การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยการทุ่มเทงบประมาณ เพิ่มงบการขาดดุลการคลัง กลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาวิ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ขณะเดียวกันการที่สินเชื่อเติบโตอย่างรวดเร็วได้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สะสม ทั้งในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นและหนี้ของภาคธุรกิจเอกชน ที่ทะยานขึ้นไปเป็น 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 169% ของจีดีพี
ไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้บริหารระดับสูงสุดของจีนจะออกมายอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มไปในทางลบ แต่เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ต.ค. 2561) คณะกรรมการกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร คณะบริหารที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดของจีน นำโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมายอมรับถึงความเสี่ยงที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของศูนย์วิจัยการพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาแห่งชาติยังออกมายอมรับผ่านสื่อว่า “จีนควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้”
ช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เป็นดัชนีสะท้อนความมั่นใจของภาคธุรกิจเอกชน แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยดัชนีในเดือน ต.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่ ดัชนีแสดงการเติบโตของคำสั่งซื้อใหม่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ 46.9 นายเรย์มอนด์ เยียง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอเอ็นแซด ประเทศจีน ให้ความเห็นว่า ทุกตัวเลขของดัชนี PMI สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมกำลังลดลง และสถานการณ์ของธุรกิจภาคเอกชนก็ย่ำแย่กว่านี้มาก
จีนชะลอกระทบอสังหาฯ 10%
นายนนท์ หิรัญเชรษฐ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชียงใหม่ ภาคเหนือ กล่าวว่า นักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ต้องเฝ้าติดตามข่าวของรัฐบาลตัวเองอยู่ตลอด เช่นเดียวกัน ภาคอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ก็มีผลอยู่แล้ว เชียงใหม่พึ่งพาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดคนจีน
นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาด บริษัท ไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า มีความกังวลว่า หากแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนยังคงลดลงต่อเนื่อง จะกระทบต่อการสร้างรายได้ให้กับประเทศที่มีถึง 1.49 ล้านล้านบาท และยังจะลามมากระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยด้วย เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อคนจีนเป็นกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาสร้างรายได้และเติมเต็มรายได้ส่วนที่หายไปจากผู้ซื้อชาวไทยของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ โดยประเมินว่าจะลดลง 8-10%
จับตาเอกชนจีนผิดนัดชำระหนี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี ให้ความเห็นว่า การอ่อนค่าของเงินหยวน ส่วนหนึ่งเป็นการช่วยผู้ส่งออกของจีนที่เผชิญผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และมองว่า เงินหยวนจะสามารถอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวรับจิตวิทยาได้ หากการเจรจาการค้าระหว่างผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม G20 ที่อาร์เจนตินา ในปลายเดือน พ.ย. นี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“แม้สหรัฐฯ และจีนจะกลับมาเจรจากันได้ แต่จีนยังมีปัญหาที่ต้องสะสาง โดยเฉพาะหนี้ภาคเอกชน โดยบริษัทเอกชนจีนต้องชำระหนี้พันธบัตรสูงถึง 3.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปีหน้า จึงมีโอกาสที่หลายบริษัทอาจผิดนัดชำระหนี้และหลายธุรกิจที่มีปัญหาอาจจะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มเติมมาชำระหนี้ได้ การคุมเข้มมากขึ้น ทำให้ธนาคารไม่กล้าเสี่ยงปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ดูแย่”
หยวนอ่อนส่งออกไทยเดี้ยง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินหยวนของจีนที่อ่อนค่าลงถึง 9% มากสุดในรอบ 10 ปี จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่แข่งขันกับสินค้าจีนในทุกตลาด อีกด้านหนึ่งจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบล่าสุด 5,745 รายการ ในอัตรา 10% ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2561 เป็นต้นมา การอ่อนค่าของหยวนจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังทำสงครามการค้ากันอยู่ เพราะผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีโอกาสซื้อสินค้าจีนในราคาที่ถูกลงชดเชยกับภาษีนำเข้าที่ปรับขึ้น 10% ได้
“การอ่อนค่าของหยวนจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยกับสินค้าจีนที่เป็นคู่แข่งขันกันในทุกตลาด เพราะเงินไทยอ่อนค่าน้อยกว่า ขณะที่ คู่แข่งขันอื่น ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ค่าเงินเขาก็อ่อนกว่าไทย”
ด้าน นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรและประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร หอการค้าจังหวัดชุมพร ชมรมธนาคารจังหวัดชุมพร หรือ กกร.ชุมพร กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ชุมพร ช่วงนี้ ถือว่าโชคดีที่สินค้าส่งออกไปจีนหลัก คือ ผลไม้ ปรากฏว่า เป็นช่วงปลายฤดูกาล แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในช่วงปลายปี จะเริ่มส่งออกผลไม้อีกครั้ง หากค่าเงินหยวนยังผันผวนก็อาจจะได้รับผลกระทบในช่วงนั้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวขณะนี้ แม้ตัวเลขจะยังไม่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไทยเราได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดหรือชะลอ การเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนเช่นปัจจุบันนี้
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงและรัฐบาลควรจะจับตาและติดตามความเคลื่อนไหว คือ การเคลื่อนย้ายการลงทุนของจีนที่มีแนวโน้มจะเข้ามาตั้งฐาน หรือ หัวหาด ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในสงครามการเงินภายในประเทศจีน โดยภูมิภาคแรกที่ทุนจีนจะเคลื่อนย้ายออกมา คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย คือ ตัวเลือกแรก ๆ ที่ทุนจีนให้ความสนใจ เนื่องจากไทยเข้ามาลงทุนง่าย เงื่อนไขไม่ซับซ้อน ดังนั้น ทุนจีนที่เข้ามาจะเข้ามาในทุกรูปแบบ ทั้งนอมินี ญาติพี่น้อง สมาคมจีน หุ้นส่วน หรือ ลงทุนเอง และให้จับตาในช่วงที่รถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ เมื่อนั้นทุนจีนเต็มระบบจะเข้ามาในไทยทั้งหมด ซึ่งเราจะต้องปรับตัวและตั้งรับให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากจีนมีกำลัง มีออร์เดอร์ มีฐานการค้าที่แข็งแกร่ง”
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี – สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี – สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.