กูรูอสังหาฯประสานเสียงยํ้า “ตลาดไร้ฟองสบู่” ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ มีแค่ “โอเวอร์ซัพพลาย” บางพื้นที่เท่านั้น สมาคมอาคารชุดไทย เผยคอนโดฯไตรมาสแรกปี 60 โอนน้อยเรื่องปกติ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร แนะสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง
ปัจจุบันเกิดการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย แต่ดูเหมือนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการลงทุนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยแรงซื้อยังมีอยู่ค่อนข้างสูง สะท้อนจากโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงนี้สามารถขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าตลาดจะเกิดปัญหาฟองสบู่เหมือนดังเช่นในอดีต
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลเตือนภัยอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและนำมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มีข้อมูลทั้งในส่วนของสินค้าคงเหลือและความต้องการของตลาดที่วิจัยด้วยตนเองทุกบริษัท จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดวิฤติฟองสบู่ภาคอสังหาฯซ้ำรอยปี 2540 อีกทั้งส่วนแบ่งตลาดกว่า 60%อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความระมัดระวังในการเติมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด ขณะที่สถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทั้งในส่วนของสินเชื่อโครงการและสินเชื่อรายย่อย มีการตรวจเช็คเครดิตบูโร ยิ่งทำให้ความกังวลต่อเรื่องที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯลดน้อยลง
เมื่อพิจารณาในส่วนของการโอนคอนโดมิเนียมที่พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2560 มียอดลดลง ทั้งนี้เป็นผลมาจากยอดขายเมื่อปี 2557-2558 ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองทำให้ตลาดตกอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยยอดขายปี 2556 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท จำนวน 7.1 หมื่นหน่วย ขณะที่ยอดขายในปี 2557 อยู่ที่ 1.4 ล้านบาท จำนวน 4.9 หมื่นหน่วย และกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2558 ด้วยยอดขาย 1.8 แสนล้านบาท จำนวน 5.3 หมื่นหน่วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาพรวมของตลาดไม่ดี เนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสัดส่วนสูงถึง 55-60% ของตลาดรวมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเข้าใจผิดของนักวิชาการ เพราะการเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ได้นั้น ตลาดจะต้องอยู่ในภาวะเงินเฟ้อกล่าวคือ มีความต้องการซื้ออย่างมาก มีความต้องการซื้อซ้ำๆ สินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ จนผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผล แต่สภาพตลาดในปัจจุบันอยู่ในภาวะเงินฝืด และราคาสินค้าที่ปรับขึ้นก็เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ราคาที่ดิน ราคาวัสดุ ซึ่งเป็นต้นทุนแท้จริง
ต่อความกังวลในเรื่องการเติมสินค้าลงตลาดของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นคนละเรื่องกับปัญหาฟองสบู่ แต่อยู่ในส่วนของปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ประกอบกับความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ต้องนำสินค้าที่ขายไปแล้วกลับมาขายใหม่ ขณะเดียวกันก็มีการผลิตสินค้าเข้ามาเติมในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีนี้เป็นเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงทั้งตลาด
“ในภาวะที่แบงค์ปล่อยสินเชื่อยาก และธนาคารโลกออกมาประมาณการณ์การเติบโตของไทยไม่ถึง 3% แสดงให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะเงินฝืด ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญในขณะนี้คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศให้แข็งแรง อย่าหวังพึ่งพาการส่งออก เพราะตลาดโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน”
ขอบคุณข้อมูล thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.