บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 10 อันดับแรก มีมาร์แก็ตแชร์เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2559 ที่ผ่านว่า บริษัทเหล่านี้ครองมาร์เก็ตแชร์รวมกันที่ 56% จากมูลค่าตลาดรวมประมาณกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 มาร์เก็ตแชร์จะขยับสู่ 60% หมายความว่าจะต้องมีบริษัทรายกลาง-เล็กหายออกไปจากตลาด เพื่อให้บริษัทรายใหญ่ได้รับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นการทำให้ตลาดถูกครอบครองโดยบริษัทรายใหญ่มากเกินไป จนเกิดความไม่สมดุลของธุรกิจ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การครองมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กเริ่มหายไปจากตลาด สาเหตุหลักมาจากผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากมาย ไม่ว่าจะจากดสถาบันการเงินหรือการระดมทุน อาทิ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts : REITs หรือ รีทส์)
ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก สืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อก่อสร้าง โดยกำหนดให้ต้องมียอดจอง 50-60% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด (เดิม 30-40%) จึงจะปล่อยเงินกู้ แต่ก็อนุมัติสินเชื่อให้เพียง 50% ของวงเงินก่อสร้าง (เดิม 70%) เท่านั้น แม้จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก่อสร้าง ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกปฏิเสธสินเชื่อรายย่อยของลูกค้า
ดังนั้น ทางรอดที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการในขณะนี้คือ การรักษาสภาพคล่องของกระแสเงินสด รวมทั้งเป็นพันธมิตรที่ดีกับสถาบันการเงิน โดยการรักษาเครดิตของบริษัทกับสถาบันการเงิน หรือการหาพันธมิตรร่วมธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากของบริษัทรายกลาง เพราะมีประวัติการดำเนินธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กอาจเป็นเรื่องยาก จึงต้องมุ่งเน้นเรื่องของการรักษาสภาพคล่องของกระแสเงินสดเป็นสำคัญ
“บริษัทอสังหาฯรายกลาง-เล็กจะต้องปรับตัว ด้วยการรู้จักสร้างสินค้าเฉพาะกลุ่มในพื้นที่ที่ตนเองมีความชำนาญ เช่น พัฒนาสินค้าที่ผู้ประกอบการการรายใหญ่ไม่เข้ามาเล่นในตลาดมากนัก รวมทั้งการปรับตัวด้านกระบวนการก่อสร้างสู่วัสดุสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ช่วงระยะการก่อสร้างลดลง “นายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทบ้านกานดา กล่าวและเสริมว่า
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น( D/E) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งไม่ควรจะเกิน 1:1 หรือ 2:1 ซึ่งการที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินมากกว่าทุนจะส่งผลต่อการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
ส่วนนายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ต้องรักษาในเรื่องของกระแสเงินสดของบริษัทให้ดี รวมทั้งพัฒนาสินค้าและการออกแบบให้มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ในส่วนของเรื่องงานก่อสร้างก็ต้องหันมาใช้ระบบสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนและระยะเวลาการผลิต ตลอดจนมุ่งเน้นเรื่องของการให้บริการหลังการขาย
นายปสันน สวัสดิ์บุรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มานะ พัฒนาการ จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทเป็นรายเล็กๆในตลาด จึงมุ่งเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์เป็นสำคัญ เพื่อต้องการให้ลูกค้ารับรู้ถึงบริษัทและสินค้าที่พัฒนา พร้อมกับการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น และจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ประสบปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน
จะเห็นว่าตั้งแต่ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายกลางและเล็กก็จับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ทั้งเรื่องเงินทุนและเทคโนดลยีการก่อสร้าง ส่วนใครจะอยู่รอดหรือต้องถอนตัวจากเวทีต้องจับตาดูต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2560
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.