ธปท.ระบุเอ็นพีแอลไตรมาสแรกปี 60 ทะลุ 4 แสน ล. แบงก์กุมขมับหนี้เสียสินเชื่อบุคคลปีที่ผ่านมากระฉูด 37% หนี้เสียบ้านไม่น้อยหน้าโต 20% แบงก์สกรีนเข้ม ส่งผลยอดปฏิเสธให้กู้พุ่งเกือบทุกประเภท เคทีซีขยับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเฟ้นลูกค้า ธปท.จับมือแบงก์หยุดวงจรหนี้รายย่อย จำกัดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่ารายได้
NPL แบงก์ Q1 ทะลุ 4 แสน ล.
ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ประกาศข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ไตรมาสแรกปี 2560 ในส่วนยอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) พบว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอล 358,082 ล้านบาท หรือ 2.64% และเพิ่มขึ้น 18,743 ล้านบาท หรือ 4.84% จากไตรมาส 4/2559 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 386,585 ล้านบาท หรือ 2.83% ต่อสินเชื่อรวม
หากดูผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรก และแนวโน้มไตรมาส 2 ของ ธปท.ที่รวบรวมความเห็นจากสถาบันการเงิน 54 แห่ง พบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในสินเชื่อรายย่อยในไตรมาสแรก และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ หากดูในส่วนดัชนีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยพบว่าลดลงในสินเชื่อเกือบทุกหมวด อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อบัตรกดเงินสดต่าง ๆ
หนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%
ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า หากดูเอ็นพีแอล สินเชื่อรายย่อยในฐานข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลที่เอ็นพีแอลที่พบหนี้เสียเติบโตกว่าทุกกลุ่ม โดย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 166,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากสิ้นปีก่อน ส่วนสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 126,479 ล้านบาท เติบโต 20.54% และบัตรเครดิตเอ็นพีแอลอยู่ที่ 53,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.83%
“แม้ข้อมูลเอ็นพีแอลในศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ออก แต่ก็คาดว่าเอ็นพีแอลรายย่อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเอ็นพีแอลใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในระบบข้อมูลเครดิตบูโร ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง” นายสุรพลกล่าว
เคทีซีขยับเกณฑ์เพิ่มรายได้ขั้นต่ำ
ด้านนางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทบัตรกรุงไทย หรือเคทีซี กล่าวว่า จากเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบัน แบงก์ น็อนแบงก์มีการปรับมาตรการผู้กู้เพิ่มขึ้น เช่น การปรับฐานเงินเดือนของผู้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งบางแห่งปรับขึ้นจาก 8,000 บาทเป็น 10,000 บาท เช่นเดียวกัน เคทีซี ที่ล่าสุดปรับฐานรายได้ผู้กู้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,000 บาท จากปีที่ผ่านมาใช้ฐานรายได้ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อกรองกลุ่มผู้กู้ที่มีศักยภาพมากขึ้นเข้ามาในระบบของบริษัท อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาทส่วนใหญ่ภาระหนี้อยู่ระดับสูง ทำให้ศักยภาพในการชำระหนี้ลดลง
ขณะที่นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส หรือกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนผู้กู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแบงก์ไม่อยากปิดโอกาสกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เพราะบางรายก็มีหนี้ต่อรายได้ต่ำ และเป็นลูกค้าที่ดีต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า หากดูยอดการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่านมา กลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 12,000 บาทผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากบริษัทค่อนข้างน้อย หรือมียอดผ่านการอนุมัติต่ำกว่า 30% หากเทียบกับกลุ่มเงินเดือนที่สูงกว่า 12,000 บาทที่มีค่าเฉลี่ยการอนุมัติเกิน 40%
“สินเชื่อบ้าน” หนี้เสียซ้ำสอง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องเอ็นพีแอลของธนาคารในภาพรวมถือว่าไม่ได้มากที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ยอมรับว่าปัญหาเอ็นพีแอลมาจากเดิมมีการกระจายสินเชื่อในแต่ละอุตสาหกรรมน้อยเกินไป ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการปรับระบบกลไกทั้งหมดให้การปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพมากขึ้น เช่น การใช้ระบบเตือนล่วงหน้า และระบบการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อที่เข้ามาใหม่เป็นเอ็นพีแอลน้อยลง
ทั้งนี้ เอ็นพีแอลของธนาคารส่วนใหญ่ยังมาจากเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อรายย่อยเริ่มชะลอลง แต่ยังเห็นทิศทางว่ามีคนกลับมาเป็นหนี้เสียซ้ำหลังปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สำหรับแบงก์กรุงไทยคาดว่าเอ็นพีแอลจะถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางไตรมาส 2/2560
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารกสิกรไทย ที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปีส่วนใหญ่ยังมาจากลูกค้าเอสเอ็มอีที่กระจายตัวในหลายธุรกิจ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ และลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้เสียอีกครั้ง ซึ่งบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีจะเชื่อมโยงไปสินเชื่อหลายประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และอื่น ๆ
“ลูกหนี้เอ็นพีแอลเรามีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว และแนะนำว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาควรเข้ามาปรึกษาธนาคารแต่เนิ่น ๆ จะสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังควบคุมเอ็นพีแอลไว้ตามเป้าหมาย ซึ่งธรรมชาติแล้วเอ็นพีแอลจะปรับลดลงหลังจากเศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 9 เดือน ซึ่งธนาคารมองว่าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น” นางสาวขัตติยากล่าว
คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เอ็นพีแอลบัตรเครดิตของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นไม่มากเช่นกัน
“หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.15% ถือว่าน้อย เพราะมีการปรับตัวตั้งแต่ปี 2558-2559 ที่มียอดสินเชื่อเข้ามาไม่มาก เพราะมีการคัดกรองลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ส่งผลดีให้ปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างมีคุณภาพ ซึ่งฐานลูกค้าเรากว่า 80-90% เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำให้สามารถคุมความเสี่ยงได้ดี” นายฐากรกล่าว
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกรุงเทพส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน ซึ่งที่ผ่านมามีการดูแลอย่างต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อยังคงเคร่งครัด ส่งผลให้เอ็นพีแอลไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันก็ทำให้ลูกค้าบางรายมีปัญหา แต่ปีนี้ก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น
“ในส่วนของธนาคารยังคงดูเรื่องคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก โดยเน้นเจาะเซ็กเมนต์เฉพาะ เช่น โครงการบ้านจัดสรรที่แบงก์ร่วมมือสนับสนุนสินเชื่อโครงการ” นายทวีลาภกล่าว
ธปท.จับมือแบงก์หยุดหนี้รายย่อย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจการเงินจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 3 ส่วน คือ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุน ซึ่งการทำระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นส่วนหนึ่ง 2) สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบการเงิน อย่างสถาบันการเงินก็ต้องไม่รับความเสี่ยงเกินควร และ 3) ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินที่ถูกลง
ทั้งนี้ วันที่ 17 พ.ค.นี้ ธปท.จะลงนามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และมีลูกหนี้หลายรายที่ต้องการการแก้ปัญหา ทาง ธปท.จึงเชิญสถาบันการเงินมาช่วยกันดูแล เพื่อทำให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้หลายทางหยุดวงจรการเป็นหนี้ได้
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า จากนโยบายของ ธปท.ที่ต้องการคุมหนี้ครัวเรือน และลดปัญหาหนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะการจำกัดการกู้สินเชื่อบุคคล และการถือครองบัตรเครดิต ตามฐานรายได้นั้นถือเป็นโจทย์สำคัญของ ธปท. เนื่องจากปัจจุบัน ธปท.เห็นความเสี่ยงจากเอ็นพีแอล ใน 2 กลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อบุคคล ที่มีเชิญชวนและการทำโฆษณาจากแบงก์และน็อนแบงก์ค่อนข้างมาก ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ไม่มีศักยภาพเข้ามาในระบบ
จำกัดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 เท่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานเรื่องเกณฑ์คุมการปล่อยกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ระบุว่า จากที่ ธปท.มีแนวคิดวางกรอบการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต “สำหรับลูกค้ารายใหม่” โดยส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลจะจำกัดวงเงินสินเชื่อให้สูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าต่อรายได้ ขณะที่บัตรเครดิตจะจำกัดจำนวนการถือครองบัตรเครดิต สำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เบื้องต้นคือ 30,000 บาทต่อเดือน) ให้ไม่เกิน 3 แห่ง พร้อมกับจำกัดวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าของรายได้ ตลอดจนดูแลการผ่อนชำระสินค้าของผู้บริโภคให้อยู่ในกลุ่มที่มีความจำเป็นเป็นหลัก มากกว่าการมุ่งใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามในการมุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาแตะระดับ 79.9% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2559
เป้าหมายของ ธปท. คือการดูแลการก่อหนี้ของประชากรเจนวาย (Gen Y) ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง จึงเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยลดการ “เพิ่มขึ้น” ของหนี้ครัวเรือนจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ ซึ่งกลุ่มคนเจนวายปัจจุบันมีประมาณ 14 ล้านคน หรือประมาณ 22% ของประชากรไทย
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.