แม้ว่าภาพรวมระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ปรับดีขึ้น แต่ก็ยังมีจุดเปราะบางที่น่ากังวล โดยรายงานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ระบุว่า ระบบการเงินไทยยังมีความเปราะบางในบางจุดที่อาจมีนัยต่อเสถียรภาพในระยะข้างหน้า ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่พบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเปราะบาง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและภาระหนี้ของผู้กู้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ และยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างต่อไป
2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยเฉพาะการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
สินเชื่ออสังหาฯเปราะบาง
ผลการประชุมระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการสะสมความเปราะบางมากขึ้นในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) เกินร้อยละ 90 เพิ่มสูงขึ้น และอัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (LTI) โน้มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ) ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น
แม้ฐานะการเงินโดยรวมของธนาคารพาณิชย์จะมีความเข้มแข็ง แต่ก็ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในลักษณะดังกล่าว เพราะทำให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สูงและอาจกระทบกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะซัพพลายคงค้างในตลาดอสังหาฯ โดยอาคารชุดบางทำเลและบางระดับราคายังระบายออกได้ช้า ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯระดมทุนผ่านสินเชื่อ และตราสารหนี้ เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเร่งตัวขึ้นในอนาคต ที่ประชุมจึงให้ติดตามและประเมินภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล รวมถึงอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกที่อาจเร่งตัวขึ้นจากการเกิดขึ้นของโครงการมิกซ์ยูสในอนาคต
NPL อสังหาฯสูงสุดรอบ 7 ปี
ในประเด็นความเสี่ยงสินเชื่ออสังหาฯ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 7-10 มิถุนายน 2561 ได้นำเสนอข่าว “ธปท.เบรกแข่งปล่อยกู้บ้าน หนี้เสียพุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี” เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มราคาปานกลางถึงระดับสูง พบว่ามีการให้วงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (LTV) ระดับ 100% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ธปท.จึงส่งสัญญาณเตือนให้ติดตามความเสี่ยง และระมัดระวังเรื่องการปล่อยกู้ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง หรือเอื้อให้เกิดพฤติกรรมเก็งกำไร
ทั้งนี้ ข้อมูล ธปท.พบว่าเอ็นพีแอลที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ระดับ 3.38% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2560 อยู่ที่ระดับ 3.23% นอกจากนี้เอ็นพีแอลในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบกว่า 7 ปี เทียบกับระดับสูงสุดเมื่อไตรมาส 2/2553 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.3%
แบงก์พาณิชย์เชื่อรับมือได้
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อบ้านที่มีความเสี่ยง ส่วนใหญ่เกิดจากลูกค้าที่ไม่มีความพร้อม แต่กู้ซื้อบ้าน เพราะการแข่งขันของแบงก์ที่มีการอัดโปรโมชั่นดอกเบี้ย ทำให้มีผู้ที่ไม่พร้อมเข้ามาสู่ตลาด สิ่งที่แบงก์ทุกแบงก์ต้องคำนึงคือ ทำอย่างไรให้สามารถคัดกรองคนที่มีศักยภาพเข้ามาสู่ระบบ ไม่ใช่นำคนไม่พร้อมเข้ามาสู่ระบบ
ส่วนที่ ธปท.กังวลเรื่อง LTV ที่พบว่ามีการเพิ่มสัดส่วนสูงขึ้นนั้น แบงก์กรุงศรีฯก็ให้ถึง 100% เพราะมองว่าบางรายมีศักยภาพ การให้สินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในกรอบที่ ธปท.ดูแล ซึ่งในสมาคมที่อยู่อาศัย ธนาคารพาณิชย์ ก็มีการหารือกันมากขึ้น ว่าการแข่งขันในปัจจุบันควรจะยึดหลักความเสี่ยงให้มากขึ้น
นอกจากนี้ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางเติบโตดีขึ้น เชื่อว่าช่วยทำให้ความกังวลเรื่องหนี้เสียน้อยลง สำหรับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารยังทรง ๆ เหมือนระดับที่ผ่านมา ยังไม่มีประเด็นที่น่าห่วง เพราะเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น
จี้คุมเสี่ยง “สหกรณ์ออมทรัพย์”
อีกประเด็นที่ กนง.แสดงความกังวลเป็นพิเศษคือ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากเงินรับฝากและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งมีการพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น
เมื่อภาวะการเงินตึงตัวและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการระดมทุน ต้นทุนทางการเงิน มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ และสภาพคล่องโดยรวมในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ ที่ประชุมจึงเห็นว่าการเร่งยกระดับการกำกับดูแลและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะรายที่มีขนาดใหญ่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มแข็ง สำหรับพฤติกรรม search for yield ในภาคส่วนอื่นยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล
รับมือต้นทุนการเงินสูงขึ้น
นอกจากนี้ รายงานของ ธปท.ระบุว่า ในระยะต่อไประบบการเงินไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายตัวเต็มที่ จึงต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินไทย ได้แก่ ผลกระทบหากภาวะการเงินตึงตัวรุนแรงต่อการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) และต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาการออกตราสารหนี้สูง ความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และภาคครัวเรือน ภาวะอุปทานคงค้างในอาคารชุดและอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกที่อาจเร่งขึ้นจากโครงการอสังหาฯแบบมิกซ์ยูส รวมถึงพฤติกรรม search for yield ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ขอบคุณข้อมูล prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.