การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ“ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ยกชุด ไม่ใช่แค่การครบวาระตามปกติ ว่ากันว่ามีนัยสำคัญซ่อนเร้นที่ “รัฐบาลทหาร” ต้องการส่งมืออาชีพด้าน “การเงิน-การคลัง” มาสางปมปัญหาหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาท ที่ “ร.ฟ.ท.” แบกจนหลังแอ่นให้จบโดยเร็ว หลังล่าช้ามานานนับปี
ซึ่งบอร์ดชุดใหม่ เป็นการปรับโหมดจากในอดีตจะเลือกใช้บริการมือกฎหมาย มาเป็นใช้บริการด้าน “เทคโนแครตกระทรวงการคลัง” เป็นหลัก
โดย “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้พินิจพิเคราะห์เองกับมือ ล้วนเป็นคนที่คุ้นเคยและร่วมงานกันมา
มี “พิชิต อัคราทิตย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เป็นประธาน ขณะที่กรรมการคนอื่นก็มีสตอรี่ที่น่าสนใจ
ไม่ว่า “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” อดีตบิ๊กกระทรวงการคลัง ขณะนี้รั้งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ คุมโปรเจ็กต์ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยองโดยเฉพาะ
ส่วน “บวร วงศ์สินอุดม” อดีตซีอีโอในเครือ ปตท. ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้าน “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์”รองอธิบดีกรมทางหลวง ก็เคยเป็นศิษย์ MBA ของรองนายกฯสมคิดสมัยที่สอนอยู่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สำหรับ “รองศาสตราจารย์ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์” เป็นถึงรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริการธุรกิจจากนิด้า ขณะที่ “อัญชลี เต็งประทีป” เคยเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงการคลังและคณะกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
สุดท้าย “อำนวย ปรีมนวงศ์” ก่อนจะนั่งตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง เคยเป็นลูกหม้อกรมธนารักษ์ดูการพัฒนาที่ดินมาร่วม 20 ปี
“บอร์ดชุดใหม่ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผ่านงานเอกชนมาก่อน เป้าหมายของรัฐบาล เพื่อมาสางหนี้และสร้างรายได้เพิ่มให้กับรถไฟ โดยการนำที่ดินแปลงมีศักยภาพกว่า 3 หมื่นไร่ เปิดให้เอกชนพัฒนา หรือดึงเจ้าสัวมาร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง โดยให้สิทธิการพัฒนาอสังหาฯรอบสถานี รวมถึงผลักดันการพัฒนาโครงการของ ปตท.ที่จะขยายธุรกิจมายังอสังหาฯด้วย” แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าว
ขณะที่ “พิชิต อัคราทิตย์” ประธานบอร์ดการรถไฟฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานด่วนของรถไฟตอนนี้คือเร่งการลงทุนรถไฟทางคู่ในแผนเร่งด่วน 6 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนกว่า 1.29 แสนล้านบาท ให้เป็นไปตามแผนงาน และเปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายในปี 2559
เนื่องจากรถไฟเป็นหน่วยงานสำคัญในแง่ของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจหันมาขนส่งทางรางมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน
“นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อยากให้เน้นลงทุนระบบรางเพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านรถไฟ การพัฒนาที่ดินสองข้างทางรถไฟ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงการพัฒนาโลจิสติกส์ ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 8 ปีอยู่แล้ว”
อีกส่วนที่สำคัญคือ การพัฒนาองค์กรรถไฟให้มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการในอนาคต เนื่องจากต่อไปจะมีทั้งการบริการของรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง จะต้องเตรียมโครงสร้างองค์กรให้พร้อม
“การลดภาระหนี้เป็นเรื่องการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะต้องทำ ตามนโยบายภาครัฐ ส่วนรถไฟความเร็วสูงต้องไปดูว่า ทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งการพัฒนาที่ดิน ทั้งสถานีกลางบางซื่อ ที่ดินแปลงใหญ่ ๆ เช่น สถานีแม่น้ำ และย่าน กม.11” นายพิชิตกล่าวและว่า
สำหรับการแก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ อย่างแรกจะดูเรื่องการให้บริการก่อน หาวิธีการจะทำยังไงให้ประชาชนที่ใช้บริการอยู่ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่ององค์กรจะเดินหน้ายังไงต่อไปนั้น ขอศึกษาในรายละเอียดอีกสักระยะหนึ่ง
เช่นเดียวกับการเดินรถสายแดง ที่รถไฟขอบริหารเอง จะขอเวลาศึกษารูปแบบจะให้เอกชนเข้าร่วม PPP หรือจะให้รถไฟบริหารจัดการ
ยังน่าติดตาม เมื่อ “นักการเงิน-การคลัง” มาบริหารงานองค์กรได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนสนธยา” จะพลิกโฉมหน้าองค์กรที่มีอายุ 119 ปี ให้ไฉไลได้แค่ไหน
ขอบคุณข้อมูล : ประชาชาติ
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.