รัฐบาลจับมือ “ไจก้า” ทำเอ็มโอยู พร้อมให้การสนับสนุนด้านการลงทุนและเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ หนุนการลงทุนให้เกิดในอีอีซี
ขณะที่ “ฮิตาชิ” นำร่องผุด Big Data และไอโอที ในนิคมฯอมตะนคร “อุตตม” ยัน ขั้นตอนประมูลพีพีพีชัด ปลายปีออกทีโออาร์ มั่นใจลงทุนปีนี้เกินเป้า 30 ราย
สืบเนื่องจากการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของรัฐบาลไทยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจนำทีมเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยมีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง(เอ็มโอไอ) กับนายฮิโรชิเกะเซโกะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น(เมติ)ในความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีให้เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 กลุ่มเป้าหมาย โดยใช้การพัฒนาอีอีซี เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรการพัฒนานวัตกรรม และดิจิตอล โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะส่งเสริมให้เกิดโครงการนำร่องในอีอีซี และจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในอีอีซี
จากการลงนามเอ็มโอไอดังกล่าว ส่งผลให้ความร่วมมือมีความชัดเจนมากขึ้น โดยในช่วงระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ จะมีคณะนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 560 รายมีภาครัฐให้การสนับสนุน นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (เมติ)เดินทางมาเยือนไทย พร้อมทั้งจะมีการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี จำนวน 3 ฉบับ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเดินทางของคณะนักลงทุนญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนจากภาครัฐในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกยํ้าความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่ายในการร่วมกันพัฒนาอีอีซีให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงในช่วงที่ผ่านมา โดยในวันที่ 12 กันยายนนี้ ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) จะมีการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอีอีซี ที่ไจก้าจะให้การสนับสนุนด้านการลงทุนและเทคโนโลยีให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุน และลงนามระหว่าง สกรศ.กับบริษัทฮิตาชิฯที่แสดงความสนใจจะลงทุนในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และ Internet of Things หรือไอโอที ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
รวมถึงการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Flex Campus ที่จะเป็นการร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากรผ่านระบบทางไกล ที่จะมีการดึงบริษัทใหญ่เข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งจะมีการตั้งศูนย์ขึ้นมารองรับ 2 แห่ง ในพื้นที่อีอีซีและในกรุงเทพมหานคร
นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากการลงนามดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกันจะมีการจัดงานสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลด้านต่างๆ ให้นักลงทุนญี่ปุ่นรับทราบ โดยเฉพาะความชัดเจนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการความชัดเจนว่าแต่ละโครงการจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดโดยเฉพาะ 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง โครงการการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่งในส่วนนี้ทางภาครัฐจะดำเนินการชี้แจงให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าใจถึงกระบวนการดำเนินงานอย่างไร เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการอยู่ในรูปแบบร่วมลงทุน(พีพีพี) ที่จะต้องมีการออกทีโออาร์ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเชิญชวนนักลงทุน และคาดว่าจะสรรหานักลงทุนที่จะมาลงทุนจริงได้ช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป
นอกจากนี้ เพื่อให้นักลงญี่ปุ่นเห็นภาพการพัฒนาอีอีซี ในวันที่ 13 กันยายน 2560ทางสกรศ.จะนำนักลงทุนราว 560 ราย นี้ลงสำรวจสถานที่จริง เพื่อให้เห็นถึงที่ตั้งของโครงการต่างๆ เขตการส่งเสริมพิเศษ และระบบการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
แหล่งข่าวจากสกรศ.กล่าวว่า ผลของทัพนักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาครั้งนี้ มีการคาดหวังว่าจะมีนักลงทุนตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีเป็นจำนวนมาก และจะส่งผลให้มีบริษัทที่ตัดสินใจลงทุนในปีนี้เกินกว่าเป้าหมายที่สกรศ.ตั้งเป้าหมายเพียง 30 บริษัท เท่านั้น
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.