นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดือน มี.ค. 2561 จะเปิดประมูลนานาชาติให้เอกชนไทยและต่างชาติลงทุน PPP Net Cost (สัมปทาน) 50 ปี ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-มักกะสัน-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กม. มูลค่า 2 แสนล้านบาท เป็นงานโยธาและระบบ 1.6 แสนล้านบาท เงินลงทุนพื้นที่มักกะสันและศรีราชาอีก 45,155 ล้านบาท
รวมไฮสปีด-แอร์พอร์ตลิงก์
โดยรัฐจะลงทุนค่าเวนคืน 3,787 ล้านบาท และสนับสนุนเงินลงทุนที่ไม่เกินค่างานโยธา 1.2 แสนล้านบาท ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธา ติดตั้งระบบ เดินรถ และซ่อมบำรุงตลอดอายุสัญญา พร้อมสิทธิพัฒาพื้นที่รอบ 9 สถานี คือ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา
รวมที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้สถานีมักกะสันเป็นเกตเวย์เชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งยังได้สิทธิการเดินรถและพัฒนาพื้นที่ 8 สถานี ที่จอดรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) รวมในสัมปทานเดียวกันด้วย เพื่อรองรับผู้ใช้บริการ city line (รับส่งระหว่างสถานี)
ส่วนทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ยังเป็นของ ร.ฟ.ท. แต่พนักงาน 400-500 คนของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ร.ฟ.ท.จะต้องเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่จะเปิดใช้ปี 2563
“เอกชนรายใหม่ที่รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะได้สิทธิบริหารและเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะเป็นแนวเส้นทางเดียวกัน สามารถบริหารปรับปรุงระบบเก่าใหม่ได้ รวมถึงซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ตอนนี้ให้ชะลอไปก่อน เพื่อไปรวมกับโครงการนี้ เอกชนจะคล่องตัวกว่ารถไฟ”
เร่งหาเอกชนก่อนสิ้นปี
นายอานนท์กล่าวว่า ตามแผนจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย. และเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่างนี้จะให้เอกชนเร่งปรับระบบบริการและซื้อรถใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มจาก 72,000 เป็น 83,000-84,000 เที่ยวคนต่อวันแล้ว แต่มีรถวิ่งอยู่ 9 ขบวน
ขณะที่ ร.ฟ.ท.จะได้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสารเมื่อปริมาณผู้โดยสารมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งกำลังดูรายละเอียดอยู่ ส่วนรายได้พัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชา เอกชนต้องให้ผลตอบแทน ร.ฟ.ท.60% ของราคาประเมินที่ดิน โดยจ่ายเป็นรายปี เฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวม 50 ปี คือ 5 หมื่นล้านบาท
รอเคาะต่างชาติถือเกิน 50%
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.กำลังดูความชัดเจนใน พ.ร.บ.อีอีซี จะให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% หรือไม่ เนื่องจากต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนให้มากที่สุด เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องรถไฟความเร็วสูง จึงให้ยื่นร่วมประมูลกับบริษัทไทย
“การประมูลล่าช้าเล็กน้อย แต่ปีนี้ต้องได้เอกชนลงทุน เพื่อเปิดบริการให้ได้ตามแผนในปี 2566 คาดมีผู้โดยสาร 169,550 เที่ยวคนต่อวัน แยกเป็นผู้ใช้บริการรถไฟธรรมดา 103,920 เที่ยวคนต่อวัน รถไฟความเร็วสูง 65,630 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภาอยู่ที่ 500 บาท/เที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาอยู่ที่ 300 บาท/เที่ยว”
ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงที่ไร้รอยต่อจะใช้โครงสร้างและแนวการเดินรถเดิมของแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบัน จะสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร มีส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และสถานีลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา และ จ.ระยอง โดยใช้เขตทางรถไฟรวมระยะทาง 260 กม. โดยมีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งระบบรถที่วิ่งในพื้นที่ชั้นในมีความเร็ว 160 กม./ชม. และ 250 กม./ชม.ในเขตนอกเมือง
จับตาบิ๊กธุรกิจปาดเค้ก
รายงานข่าวแจ้งว่า จากโครงการนี้คาดว่าจะได้รับความสนใจจากบริษัทใหญ่ในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ จีน บริษัท JR Kyushu ผู้ดำเนินธุรกิจรถไฟอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.), บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC), บมจ.ระบบทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, ทีซีซีแลนด์, สิงห์ เอสเตท, สยามพิวรรธน์
แหล่งข่าวจาก บจ.เจริญโภคภัณฑ์ วิศวกรรม ธุรกิจในเครือ ซี.พี. กล่าวว่า สนใจลงทุน ขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลและรอดูความชัดเจนของทีโออาร์ภาครัฐ โดยร่วมพันธมิตรกับจีน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. BTSC ก็ให้ความสนใจร่วมลงทุนเช่นกัน ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) “ผมขอดูเงื่อนไขและรายละเอียดในทีโออาร์ก่อน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง”
และก่อนหน้านี้นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน โดยร่วมลงทุนกับประเทศจีน
เปิดช่องต่างด้าวลุยรถไฟฟ้า
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. เปิดเผยว่า กฎหมายอีอีซีเป็นกฎหมายอำนวยความสะดวกไม่ว่านักลงทุนไทยหรือต่างด้าว โดยส่งเสริมประกอบธุรกิจและลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สถานีรถไฟฟ้ามักกะสันที่มีโครงข่ายเชื่อมอีอีซี บริษัทเอกชนที่มาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย
“ส่วนการลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูง บริษัทของไทยจะต้องจดทะเบียนในเมืองไทย หรือแม้เป็นบริษัทต่างด้าวก็ได้รับสิทธิพิเศษเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดออกมาภายหลังกฎหมายอีอีซีประกาศใช้” นายวรพลกล่าว
ประเคนสิทธิผู้ร่วมลงทุน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คนพ.) ล่าสุด ได้มีข้อเสนอหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “เห็นชอบ” รูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาโครงการ 50 ปี (รวมระยะเวลาก่อสร้าง) โดยจะเป็นการร่วมลงทุนแบบสัมปทาน 50 ปี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท. 61% ของมูลค่าที่ดิน เริ่มโครงการในเดือนกันยายน 2561 เสร็จสิ้นโครงการเดือนสิงหาคม 2611
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ส่วน Airport Rail Link ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ กับส่วนที่จะต้องก่อสร้างเพิ่มเติม ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงจากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา กับพญาไท-ดอนเมือง ทำให้โครงการมีลักษณะระยะเวลาดำเนินการที่ทับซ้อน จึงมีการกำหนดตารางเวลาการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง-การปรับปรุงสถานี และ Rial Run ระยะเวลา 5 ปี 2 เดือน (กันยายน 2561-ตุลาคม 2566) และยังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่จะต้องดำเนินการโดยผู้ลงทุนที่มักกะสัน กับบริเวณสถานีศรีราชา ระยะเวลา 5 ปี 2 เดือน (กันยายน 2561-ตุลาคม 2566) อีกด้วย
สำหรับสิทธิของผู้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สถานี จะประกอบไปด้วย 1) สิทธิในการใช้สถานีกลางบางซื่อ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่สถานีกลางในการจอดรับผู้โดยสารและดำเนินการเชิงพาณิชย์ อาทิ การขายตั๋วรถไฟ, การให้บริการเสริมบนขบวนรถ และพื้นที่บนสถานีที่ ร.ฟ.ท.กำหนดส่งมอบให้ 2) สิทธิในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถใช้พื้นที่ในการจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามเงื่อนไขที่จะต้องระบุไว้ในสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
3) สิทธิในการใช้สนามบินอู่ตะเภา จะใช้จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่ให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน กับกองทัพเรือไทย 4) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมและสิทธิการให้บริการเดินรถไฟภายในเมือง City Line ของโครงการ Air-port Rail Link โดยผู้ร่วมลงทุนไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟ Airport Rail Link 5) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนก่อสร้างเพิ่มเติมจากสถานีพญาไท-ดอนเมือง และสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และมีสิทธิดำเนินการให้บริการเดินรถไฟบนโครงสร้างนี้
6) สิทธิในการใช้ที่ดินมักกะสันเชิงพาณิชย์ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนที่ดินมักกะสันเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างผู้ร่วมทุน กับ ร.ฟ.ท.ที่จะต้องดำเนินการต่อไป 7) สิทธิการใช้ที่ดินรอบสถานีรถไฟศรีราชาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่ 8) สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ GSM-R สำหรับระบบอาณัติสัญญาณ ETC Level 2 โดย ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้จัดเตรียมสัญญาณและแบบสิทธิให้ผู้ร่วมทุน หากมีค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกเก็บให้ผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
และ 9) สิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟ ผู้ร่วมทุนจะสามารถใช้พื้นที่บนสถานีรถไฟเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สถานีรถไฟที่ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ-สถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา การใช้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ ร.ฟ.ท.กำหนด กับสถานีที่ใช้เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ผู้ร่วมทุนจะได้รับสิทธิการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เงินสนับสนุนจากรัฐ
สำหรับการสนับสนุนทางด้านการเงินในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะประกอบไปด้วย 1) ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสู่ ร.ฟ.ท. ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดิน เป็นจำนวน 3,639 ล้านบาท กับการโอนหนี้สินของ ร.ฟ.ท. คิดเป็นจำนวนเงิน 33,229 ล้านบาท กับ 2) เงินสนับสนุนภาคเอกชน (ผู้ร่วมลงทุน) ได้แก่ เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงก่อสร้างในระยะเวลาก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 113,303 ล้านบาท, เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเผื่อโครงการอื่น 7,210 ล้านบาท และเงินสนับสนุนรายปีเป็นระยะเวลา 10 ปี ในช่วงดำเนินงานอีก 21,184 ล้านบาท
โดยเงินสนับสนุนเหล่านี้จะต้องไม่เกินมูลค่าโครงสร้างพื้นฐาน 120,514 ล้านบาท ตามเพดานสูงสุดที่รัฐบาลกำหนดไว้
ขอบคุณข้อมูล : prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.