กรมที่ดินประกาศยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ภายในปี 2562 ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองและเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิที่ดิน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรังวัด การจัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดิน ตลอดจนลดภาระของประชาชนในการระวังชี้แนวเขตที่ดิน
นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า จากการรังวัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินเพื่อการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ผ่านมา พบว่าการรังวัดทำแผนที่ไม่มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของหลักเขตหรือแนวเขตที่ดินที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบอ้างอิงตำแหน่งของหลักเขตหรือแนวเขตที่ดินที่ถูกต้องเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและการให้บริการรังวัดที่ดินที่ล่าช้าเนื่องจากต้องทำการระวังชี้แนวเขต ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมที่ดินจึงได้นำเทคโนโลยีโครงข่ายการรังวัดด้วยระบบดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) สำหรับใช้ทำการรังวัดเฉพาะราย เพื่อให้รูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่ถูกต้อง มีมาตรฐานระดับสากล ประชาชนได้รับบริการ ด้านการรังวัดที่ดินที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลรูปแปลงที่ดินของรัฐและเอกชน ของทุกหน่วยงานมีความถูกต้องสัมพันธ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน กรมที่ดินจึงได้มีการประกาศพื้นที่ยกระดับการรังวัด ด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ขึ้น โดยในการดำเนินการดังกล่าวกรมที่ดินได้รับงบประมาณต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม อ้างอิงถาวร (CORS) จำนวน ๑๒๑ สถานี และจัดหาเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจร (Rover) จำนวน 1,100 เครื่อง
อธิบดีกรมที่ดินกล่าวต่อไปว่า โดยในปีงบประมาณ 2560 กรมที่ดินได้มีการประกาศ พื้นที่ยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ขึ้นในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ นครนายก พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครราชสีมา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุบลราชธานี จันทบุรี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยจะดำเนินการในเดือนสิงหาคม และจะมีการประกาศพื้นที่ยกระดับการรังวัดฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2562 (รายละเอียดในตาราง)
การยกระดับการรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ของกรมที่ดินในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลรูปแปลงที่ดินของรัฐและเอกชนที่ถูกต้อง ทั้งรูปแปลง เนื้อที่ และค่าพิกัดภูมิศาสตร์ สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับประชาชนจะได้รับประโยชน์ คือ ลดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน เนื่องจากรูปแปลงที่ดิน มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องสูง ลดระยะเวลาการรังวัดที่ดินของประชาชน เนื่องจากคิวรังวัดลดลง ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการรังวัดที่ดิน ลดภาระของเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการเดินทางมาระวังชี้แนวเขต เพิ่มความเชื่อมั่นในเอกสารสิทธิ และประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ก่อให้เกิดการบูรณาการในด้านต่าง ๆ เช่น การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ การจัดโซนนิ่ง การเกษตรอัจฉริยะ การจราจรอัจฉริยะและระบบคมนาคมขนส่ง เป็นต้น การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวของกรมที่ดิน จะทำให้รูปแปลงที่ดิน ของประชาชน มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถตรวจสอบตำแหน่งได้ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินของตนเอง และลดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินได้ รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของรัฐ และประชาชนในการรังวัดที่ดินอีกทางหนึ่งด้วย
ขอบคุณข้อมูล thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.