นับจากปี พ.ศ. 2541 ที่ประเทศไทยได้เริ่มมีระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายแรก คือ ทางหลวงหมายเลข 7 กรุงเทพ – ชลบุรี ระยะทาง 82 กิโลเมตร และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้เปิดให้บริการทางหลวงหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก บางนา – บางปะอิน ระยะทาง 64 กิโลเมตร สร้างความสะดวกในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกให้แก่ประชาชนอย่างมาก
รองรับรถใช้เส้นทางกว่า 6 แสนคันต่อวัน
โครงการดังกล่าวนี้ด้วยจุดเด่นที่ออกแบบให้รถสามารถใช้ความเร็ว มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีรั้วกั้นตลอดแนว และมีทางแยกต่างระดับในจุดที่ต้องตัดกับเส้นทางสายอื่น ๆ รวมถึงมีที่พักริมทาง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบควบคุมความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณการใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย มากกว่า 6 แสนคัน/วัน
ดังนั้นกรมทางหลวง(ทล.)จึงได้พัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้ขยายจากชลบุรี ไปถึงพัทยา ระยะทาง 42 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการเข้าสู่ระบบปิดอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ ล่าสุดวันที่ 5-6 พฤษภาคมนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมคณะผู้บริหารกรมทางหลวงเตรียมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
ประการสำคัญด้วยการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้อนุมัติเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายพัทยา – มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา และทางหลวงหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี
ปัจจุบันกรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษทั้ง 3 เส้นทาง และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด เป็นการก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ ผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 2+300 เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่านอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริเวณ กม. 34+400 ระยะทางรวม 32 กม ใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษไปดำเนินการ
กำหนดเปิดให้บริการปี 62
ในส่วนระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้าง สำหรับงานก่อสร้างในส่วนงานโยธา แบ่งออกเป็น 13 สัญญา ได้ลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วทั้งหมด มีความก้าวหน้ากว่า 32% (ณ เดือนเมษายน 2560) ในส่วนของงานระบบ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมและบริหารการจราจร ด่านช่างน้ำหนัก อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบการก่อสร้าง และเตรียมการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 โดยทางหลวงหมายเลข 7 สายพัทยา – มาบตาพุด จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2560 -2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งผลักดันในปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศ
ขอบคุณข้อมูล thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.