โหมงานจนเย็นย่ำ “สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต”พ่อเมืองระยอง ยังแบ่งเวลามาให้ข้อมูลกับทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ฉายภาพแนวทางการพัฒนาเมืองระยอง ทั้งที่ต้องเร่งเดินเครื่องในวันนี้และวันข้างหน้า
“ระยองจะบูมอีกรอบ ด้วยนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ การขยายสนามบินอู่ตะเภา การขยายมอเตอร์เวย์” พ่อเมืองเริ่มต้นเอ่ยถึงสารพัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐที่ทุ่มลงมาพัฒนาจังหวัดระยอง
ทั้งนี้เป็นการตอกย้ำภาพความเป็นเมืองอุตสาหกรรมอีกครั้งนับตั้งแต่เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Sea Board Development Program (ESB) ราว 30 ปีที่ผ่านมา ที่พลิกโฉมหน้าเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกไปอย่างสิ้นเชิง จากเมืองผลไม้ ดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว ก็ถูกทาบทับด้วยเมืองแห่งอุตสาหกรรม สร้างความเจริญเติบโตให้ประเทศไทยแบบก้าวกระโดด
ขณะเดียวกันปัญหามลพิษก็ตามติดมาเป็นเงา เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนและกังวลใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด ถึงขั้นมีการฟ้องร้องในปี 2552 มาปี 2555 เหตุการระเบิด และสารพิษรั่วไหล ตอกย้ำความเลวร้ายของการพัฒนาอุตสาหกรรมในสายตาชาวบ้านเข้าไปอีก
เรื่องนี้พ่อเมืองระยองอธิบายว่า เรื่องในอดีตต้องยอมรับ และปรับปรุงแก้ไข แต่ปัจจุบันบรรยากาศระหว่างโรงงานกับชุมชนถือว่าดีขึ้นมาก เพราะช่วงหลังโรงงานอุตสาหกรรมมีการทำซีเอสอาร์ คืนกำไรให้สังคมมากขึ้น
“วันนี้เป็นที่ทราบแล้วว่าอุตสาหกรรมกับระยองต้องอยู่คู่กัน ถอยไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจจังหวัดระยองขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมถึง 80% ที่จะมาจุนเจือภาคการเกษตร พาณิชยกรรม และภาคบริการ วันนี้หลายจังหวัดเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ระยองพอไปได้ ฉะนั้นชาวบ้านก็เริ่มรู้แล้ว เพียงแต่เราต้องตระหนักไว้ตลอดว่าทำอย่างไรจะให้อุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เกิดผลกระทบ อุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อไปนี้เราจึงเน้นนโยบายสู่การเป็นอีโค่ทาวน์”
การลงทุนอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดระยองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการให้บริการของภาครัฐไม่ทั่วถึงตามมา เรื่องนี้ผู้ว่าฯระยองตั้งเป้ารณรงค์ให้ประชากรแฝงโอนย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่จังหวัดระยอง เพื่อจะได้งบประมาณตามจำนวนประชากรที่แท้จริง
ผู้ว่าฯสมศักดิ์บอกว่า ปัญหาของระยองคือเรามีประชากรในทะเบียนราษฎร 6 แสนกว่าคน แต่มีผู้อาศัยจริงไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งทำให้มีผลต่อเรื่องการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่คิดตามฐานต่อหัวประชากร ไม่ว่าจะเป็นด้านท้องถิ่น เงินอุดหนุน อัตรากำลังแพทย์พยาบาล หรืออัตราครู โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งในปี 2559 นี้ เราจะให้เป็นปีรณรงค์ให้ผู้ที่มาอยู่ในจังหวัดระยองย้ายทะเบียนบ้าน โดยขอความร่วมมือโรงงานให้ช่วยชี้แจง แล้วเราจะอำนวยความสะดวกไปรับบริการถึงโรงงานเลย
สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นพ่อเมืองระยองย้ำว่าจะต้องเตรียมแรงงานสายอาชีวะเพราะตอนนี้ขาดแคลนมาก ตนมองว่าสายอาชีพจบมามีงานรองรับแน่นอน แต่ต้องส่งเสริมสาขาที่ขาดแคลน ตอนนี้จังหวัดได้มอบให้สำนักงานสถิติจังหวัด ทำแบบสอบถามไปที่โรงงานในระยอง 2 พันกว่าโรงว่ามีตำแหน่งไหนว่าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ แล้วจะนำข้อมูลไปให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดนำไปปรับการรับสมัครนักศึกษา เช่น ปกติอาจจะมีแผนกละ 100 คน แต่ต่อไปอาจจะต้องปรับสัดส่วนรับสาขาที่ขาดแคลนมากกว่า และข้อมูลนี้จะเป็นผลดีต่อเด็กที่จะมาเข้าเรียนสายอาชีวะด้วย
“การเรียนสาขาที่ตรงกับงานจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งโรงงานและแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่มีฐานะไม่ดี ถึงปานกลาง จะเห็นอนาคตเลยว่าจบแล้วมีงานทำแน่ และที่จูงใจคือทำงานอยู่กับบ้าน มีความสะดวกสบายทุกอย่าง ได้อยู่กับครอบครัว เพราะไม่ต้องไปเช่าบ้าน ไม่ต้องเสียค่ารถกลับไปเยี่ยมบ้าน นี่คือมาตรการจัดเตรียมแรงงานรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตลอด ล่าสุดระยองมีโรงงานทั้งหมด 2,067 โรง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกเดือน”
ปัจจุบันระยองมีอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีอุตสาหกรรมหลักคือ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมที่เข้ามาระยองเพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือ โรงงานผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะบริษัทผลิตยางรถยนต์ แต่กลับต้องซื้อผลผลิตจากพื้นที่อื่น ทั้งที่ระยองเองก็เป็นแหล่งปลูกยางพารา
พ่อเมืองระยองบอกว่า ขณะนี้จังหวัดมีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในการระบายยางพารา โดยใช้โอกาสที่เรามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบอยู่ถึง 70 กว่าโรง ปริมาณการใช้ยางรวม 1 ล้านกว่าตัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดประชุมให้เกษตรกรมาพบกับโรงงาน โดยเริ่มต้นจากโรงงานแมกซิส ที่จำหน่ายยางไป 120 ประเทศทั่วโลก
“ผมถามว่าเขาซื้อยางแผ่นรมควันมาจากไหน เขาบอกซื้อจากตรัง เราก็บอกว่าแบ่งมาซื้อที่เรา 5% ได้หรือไม่ อีกอย่างซื้อจากเราน่าจะถูกกว่าเพราะไม่มีค่าขนส่ง เขาตอบรับในหลักการ แต่มีเงื่อนไข คือ 1.โรงงานผลิตยางแผ่นรมควันต้องผ่านมาตรฐาน ISO และ 2.ต้องผ่านมาตรฐานของเขา”
ผู้ว่าฯระยองบอกว่า ล่าสุดกลุ่มเกษตรกรได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มาทำโรงงานยางแล้ว คาดว่าจะเสร็จปลายปีนี้ จากนั้นจะผลิตยางตามมาตรฐานที่กำหนด คาดว่าจะเป็นจริงได้ในปี 2560 ซึ่งอาจจะช่วยระบายผลผลิตได้ระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วยในจังหวัดของเรา พึ่งตนเองได้ไม่เป็นภาระรัฐบาล
นี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ที่พ่อเมืองระยองยังต้องลุยต่อในฐานะเมืองที่เป็นฐานผลิตหลักในการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
—————————————–
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.