บีโอไอ เล็งปรับเป้าหมายลงทุนในพื้นที่อีอีซีใหม่ คาดในปีนี้มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนพุ่งกว่า 7แสนล้านบาท หลังผนวก 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี พร้อมวางกลยุทธ์โรดโชว์ดึงนักลงทุนใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ประกาศทิศทางการลงทุนในปี 2562 ออกมาแล้ว โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้มายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ 7.5 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีผู้มายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ 9.01 แสนล้านบาท จำนวน 1,626 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีถึง 6.83 แสนล้านบาท จำนวน 422 โครงการ หรือคิดเป็น 76 % ของมูลค่าคำขอทั้งหมด จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียง 3 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าเป้าหมายที่บีโอไอตั้งไว้อาจจะต้องมีการทบทวนใหม่ โดยเฉพาะการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะขึ้นไปสูงกว่า 7 แสนล้านบาท ที่จะเกิดจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เอกชนจะมีผู้ลงทุนราว 8 หมื่นล้านบาท โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(MRO) เอกชนลงทุน 4,255 ล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนท่าเรือ F เอกชนลงทุน 30,871 ล้านบาท โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ราว 3.5 หมื่นล้านบาท และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เอกชนลงทุน 2.72 แสนล้านบาท รวมเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนกว่า 4.2 แสนล้านบาท
โดยทั้ง 5 โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการประมูล และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลและลงนามในสัญญาได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งหมายความว่าหลังลงนามในสัญญาแล้ว ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวภายในปีนี้ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การตั้งเป้าหมายการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ที่ 7.5 แสนล้านบาท เป็นการกำหนดขั้นตํ่าไว้ก่อน ที่จะดึงผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซีที่ปีนี้ยังตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3 แสนล้านบาท แต่หากรวมการลงทุนของเอกชน 5 โครงการดังกล่าว ที่จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ก็จะทำให้เป้าหมายการลงทุนในปีนี้สูงขึ้นไปกว่า 7 แสนล้านบาทได้ ซึ่งหลังจากนี้ไปคงจะต้องมาทบทวนเป้าหมายการลงทุนในพื้นที่อีอีซีกันใหม่
ขณะที่การดึงนักลงทุนเพื่อให้เข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้ จะต้องดำเนินงานอย่างเข้มข้น ที่บีโอไอและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จะร่วมมือกันออกไปชักชวนนักลงทุน(โรดโชว์)เช่นญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป โดยจะเน้นไปที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดิจิตอล และการแพทย์และสุขภาพ โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น การเชื่อมโยงแผนการชักจูงนักลงทุนรายอุตสาหกรรมเข้ากับมาตรการหรือนโยบายสำคัญๆ ของภาครัฐในแต่ละช่วงเวลา การพบปะนักลงทุนแบบเจาะลึกตามกลุ่มเป้าหมายระหว่างการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี การเข้าร่วมเวทีการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ เพื่อพบปะนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการเดินทางไปชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.