อดีตเคยรุ่งเรืองด้วยกสิกรรม แต่ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีได้พัฒนาตัวเองไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากจุดเด่นทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ทั้งยังใกล้กับจังหวัดกลุ่มระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้เมืองปราจีนบุรีในวันนี้มีความเหมาะสมกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จังหวัดยังต้องเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ความโดดเด่นอีกอย่างของจังหวัดคือ สมุนไพร ที่ ณ เวลานี้ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้นำด้านสมุนไพรไทย มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมหลากหลาย โดยแผนของจังหวัดต้องพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง มุ่งสู่เป้าหมาย Wellness City หรือเมืองสุขภาวะดี
การพัฒนาทั้งหลายนี้อยู่ในขั้นตอนใด ทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์“ทิวา วัชรกาฬ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ถึงรายละเอียดต่าง ๆ
เป้ารายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท
“ทิวา วัชรกาฬ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีว่า ปี 2559 จังหวัดปราจีนบุรีสามารถจัดเก็บรายได้ถึง 14,976.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่สามารถจัดเก็บได้ 4,792.44 ล้านบาท รายได้ที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่สำนักงานสรรพากร และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ปราจีนบุรีสามารถเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีรถยนต์ และคาดว่าในปี 2560 นี้ จังหวัดปราจีนบุรีจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2,740.67 ล้านบาท เป็น 17,717.08 ล้านบาท จากการเก็บภาษีเช่นกัน
สำหรับทิศทางการพัฒนาจังหวัดปราจีนบุรีในปี 2560-2561 จะเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ การเป็นเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เกษตรปลอดภัย ก้าวไกลสู่โลจิสติกส์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพ ศูนย์กลางการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับประชาคมอาเซียน 2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น
3.พัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยว สินค้า บริการ และผลิตภัณฑ์ 4.ยกระดับการบริหารจัดการสังคมให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับทุกสถานการณ์เพื่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของจังหวัด และ 5.อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับพื้นที่
ผุดอ่างนฤบดินทรฯแก้น้ำท่วม
ทิศทางของจังหวัดปราจีนบุรีวันนี้ชัดเจนว่าถนนสายหลักต่างมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอกบินทร์บุรีและอำเภอศรีมหาโพธิประกอบด้วยเขตประกอบการอุตสาหกรรม 1 แห่ง คือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ตั้งอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี มีโรงงาน 72 แห่ง เนื้อที่ 2,563 ไร่ และมีสวนอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง อ.กบินทร์บุรี มี 35 โรงงาน เนื้อที่ 2,068 ไร่ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค อ.ศรีมหาโพธิ มี 124 โรงงาน บนเนื้อที่ 7,500 ไร่ และโรจนะ อินดัสเตรียล แมเนจเมนต์ มี 8 โรงงาน พื้นที่ 3,998 ไร่ รวมถึงมีนิคมอุตสาหกรรมอีก 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี ตั้งอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี มี 6 โรงงาน บนเนื้อที่ 1,075 ไร่
โดยที่ผ่านมาจังหวัดปราจีนบุรีได้ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จากโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9สามารถเก็บน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตรทำให้สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน และเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามาถึงพื้นที่ทางการเกษตรใน อ.บ้านสร้าง และแก้ปัญหาน้ำประปาเค็ม
“คาดว่าในปี 2560 จะมีการลงทุนภายในจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ประกอบกับความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ขณะเดียวกันมองว่าแนวโน้มจะมีโรงงานมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านการคมนาคม ซึ่งปราจีนบุรีเป็นเสมือนศูนย์กลางที่จะเดินทางไปภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกัมพูชา และท่าเรือน้ำลึกได้อย่างสะดวก”
ปรับโครงสร้างพื้นฐานรับพัฒนา
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวต่อว่าปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรียังคงมีอุปสรรคในการพัฒนาเมืองอยู่ที่ด้านโลจิสติกส์ที่ไม่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะถนนที่ตัดผ่านจังหวัดเช่น เส้นทางหลวง (ทล.) 319 สายหนองชะอม-พนมสารคาม ทล.3079 ปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ และ ทล.3481 คลองหลวงแพ่ง-ปราจีนบุรี เป็นต้น ที่ยังคงเป็นขนาดสองเลน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหารถติดและอุบัติเหตุบ่อยขึ้น ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะบรรจุโครงการขยายถนน ทล.319 และ ทล.3079 จากขนาด 2 เลน เป็น 4 เลน ในปีงบประมาณ 2561 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564
ขณะเดียวกันในปี 2560 จังหวัดปราจีนบุรีได้รับงบประมาณจากโครงการพัฒนาจังหวัดตามนโยบายสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านทางงบประมาณกลุ่มจังหวัดจำนวน667.5ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ ๆ ในการแก้ปัญหาหลักของจังหวัด คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดปราจีนบุรีในอนาคต ดังนี้ โครงการซ่อมแซมถนน ทล.304 จำนวน 2 จุด และ ทล.33 จำนวน 5 จุด ซึ่งกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ ใช้งบประมาณ 189 ล้านบาท
อีกทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหมด 20 แห่ง เพื่อรองรับเมืองที่กำลังจะขยาย รองรับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ๆในอนาคต และเพื่อการเกษตร ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน ใช้งบประมาณ 399,440,000 บาท และโครงการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัยของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างงบประมาณ79ล้านบาทเพื่อพัฒนาเกษตรควบคู่กับเมืองอุตสาหกรรมใหม่และเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรให้มากขึ้น
สร้างเชื่อมั่นคนไทยใช้สมุนไพร
ขณะที่ทิศทางการพัฒนาปราจีนบุรีให้เป็นเมืองสมุนไพร(Herbal City)นั้นจะเป็นการทำงานโดยการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สมุนไพร เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพรน้อย เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งไม่มีงานวิจัยหรือข้อมูลมาสนับสนุน ประกอบกับความคิดที่ว่ายาสมุนไพรมีคุณสมบัติด้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ จำเป็นที่จะต้องให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นตัวกลางสำคัญที่จะให้ข้อมูลกับประชาชน ผู้ป่วย ผู้มารับบริการ และผู้ประกอบการ
นอกจากนี้จะต้องพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการนำสมุนไพรไทยมาพัฒนาต่อยอด และส่งเสริมเกษตรกรให้มีการพัฒนาปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ และพัฒนากระบวนการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยจังหวัดปราจีนบุรีมีโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ในฐานะโรงพยาบาลต้นแบบในการดำเนินการด้านสมุนไพร ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวปลูกวัตถุดิบส่งโรงพยาบาล โดยมีการประกันราคาและปริมาณที่จะซื้ออย่างชัดเจน
ด้วยศักยภาพที่ล้นเหลือ คือ โอกาสที่เมืองปราจีนบุรีจะเติบโตมากขึ้น เหลือเพียงการลงมือปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และจริงใจ เท่านั้น
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.