ระยองเด้งรับนโยบาย EEC จัดคุย 3 ฝ่าย ดันหลักสูตรผลิตแรงงานรับ New S-Curve อดีตประธานสภาอุตฯระยองเผยเศรษฐกิจจะบูมอีกรอบ ชู 5 อุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดของเดิม ชี้ ปตท.พร้อมสุด เตรียมดันเฟส 1 ผลิตไบโอพลาสติก จ้องยื่นแก้ผังเมืองทันทีหลังประกาศใช้
นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ “Eastern Economics Cor-ridor Development-EEC” เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายที่มาถูกทาง เนื่องจากการลงทุนที่จะโตได้เร็วมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นพื้นที่ภาคตะวันออกจึงมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีฐานรองรับอยู่แล้วตั้งแต่สมัยอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยเฉพาะจังหวัดระยองที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ ล่าสุดปี 2559 ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 1,008,615 บาท
ยื่นแก้ผังเมืองรับบูม EEC
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขผังเมืองนั้น อยู่ระหว่างรอการประกาศใช้ ขณะเดียวกันภาคเอกชน โดยคณะกรรมการแก้ไขผังเมือง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาและปรับแก้ผังเมืองคู่ขนานไปด้วย เนื่องจากผังที่จะประกาศออกมาเป็นแผนเก่า ดังนั้นเพื่อให้รองรับการพัฒนาที่จะตามมาต้องมีการแก้ไขอีกครั้ง
“ผังปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการทำด้วยการไล่ตามความจริง ดังนั้นที่จะประกาศออกมาก็จะเป็นการไล่ความจริงแบบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่จริง ๆ หน้าที่ผังเมืองต้องเป็นผังที่ชี้นำอนาคตว่าคุณต้องการเป็นอะไร ซึ่งเราจะแก้ตัวนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเราเห็นแล้วว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นหากรัฐบาลประกาศออกมาเราก็เตรียมแผนแก้ไว้แล้ว และไม่ใช่แค่กำหนดโซนเท่านั้น แต่สาธารณูปโภคต้องตามมาด้วย น้ำไฟต้องพอสำหรับการพัฒนาครั้งนี้ นอกจากนี้ยังต้องปรับกฎหมายบางขั้นตอนที่ล่าช้าเกินไป โดยเราจะเสนอขั้นตอนที่รวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ” นายวีระพลกล่าว
ปั้น 5 อุตฯ New S-Curve
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 5 ตัว ที่เรียกว่า New S-Curve ได้แก่
นายวีระพลกล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดระยอง ขณะนี้มองว่าบริษัท ปตท.มีความพร้อมมากที่สุด ในเรื่องของการพัฒนาด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTT Global Chemical Public Company Limited) ที่มีการศึกษาเตรียมไว้แล้ว โดยจะนำสินค้าเกษตรมาทำเป็นเส้นใยในการผลิตพลาสติก โดยขณะนี้กาแฟอเมซอนเป็นรายแรก ๆ ที่เริ่มใช้แก้วที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพแล้ว ถือว่าเป็นเทรนด์ของโลก เพียงแต่ว่าตอนนี้น้ำมันยังถูก ต้นทุนพลาสติกโดยใช้ปิโตรเคมียังถูก จึงต้องรอจังหวะ แต่เทรนด์โลกหนีไม่พ้นที่ในอนาคตต้องใช้
ขณะที่อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน กองทัพเรือมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ภายในประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 1,150 ไร่ ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ 540 ไร่ กิจการ General Aviation 130 ไร่ อาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมในอนาคต 870 ไร่ ศูนย์ฝึกอบรม 350 ไร่ และกิจการพาณิชย์ปลอดอากร 320 ไร่ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเล ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขนส่งได้มากยิ่งขึ้น
“มองว่าหากศูนย์ซ่อมอากาศยานเริ่มเมื่อไหร่ เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องของโลคอลคอนเทนต์ มองว่าเรามีความถนัดเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์อยู่แล้ว ซึ่งชิ้นส่วนเครื่องบินนั้นไม่แตกต่างกัน เพียงแค่ขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น โดยตั้งมาตรฐานที่ต้องการ จะทำให้ท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์”
เร่งร่างหลักสูตรอาชีวะ
นายวีระพลเปิดเผยว่า พื้นที่ตอนนี้กำลังเตรียมพร้อมเรื่องแรงงาน โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดระยอง (กรอ.) ได้ร่วมกับจังหวัด และเอกชน หารือกัน 3 ฝ่ายเกี่ยวกับการร่างหลักสูตรอาชีวะให้ตรงกับความต้องการ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน คาดว่าปลายนี้น่าจะเห็นแผนเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในอนาคตมองว่าแรงงานไทยควรจะโปรโมตตัวเองให้เป็นแรงงานมีฝีมือ
ขณะที่แรงงานไร้ฝีมือซึ่งปัจจุบันหาแรงงานไทยแทบไม่ได้แล้ว ก็เปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม คือ การต่อยอดของเดิม ไม่ใช่เป็นหุ่นยนต์เป็นตัว ๆ แต่จะเป็นพาร์ตบางส่วน อาจจะเป็นหุ่นยนต์ในการผลิต หากทำได้ในอนาคตปัญหาเรื่องแรงงานเราจะน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันระยองมีปัญหาเรื่องเวลาสินค้าเกษตร ตอนนี้ยังใช้คนเก็บอยู่เลย แล้วในอนาคตจะหาแรงงานนี้ได้ที่ไหน ฉะนั้นในอนาคตเรื่องนี้ต้องทำอยู่แล้ว
ส่วนการลงทุนในระยองคาดว่าน่าจะยังอยู่ในโซนเดิม เพียงแต่ว่าต้องกำหนดโซนให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น เริ่มจากอุตสาหกรรมหนักจะอยู่บริเวณมาบตาพุด เป็นนิคมปิโตรเคมี จากนั้นเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โซนมาทางอำเภอนิคมพัฒนา จะเป็นชิ้นส่วนพลาสติก จากนั้นโซนจะไล่ไปเรื่อย ๆ จนจบที่วงแหวนอุตสาหกรรม คือ ท่าเรือแหลมฉบัง
“ถามว่าพื้นที่ที่จะพัฒนาได้อีก ตอนนี้จะเป็นหย่อม ๆ ซึ่งมีแนวของมันอยู่แล้ว แต่ต้องทำผังให้ชัดเจน ประชาชนจะได้รู้ตั้งแต่ต้นว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไหน ตรงไหน เพื่อไม่ให้เกิดความกังวล อย่างตอนนี้ ที่โตเร็วที่สุดของระยอง คือ อำเภอปลวกแดง ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้อสังหาฯผุดมากขึ้นตามหากสาธารณูปโภคไปไม่ทันก็จะเป็นปัญหา ตรงนี้ต้องวาดผังให้ชัด เป็นสิ่งที่เราอยากจะปรับแก้”
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.