นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ.นี้ กรมจะเชิญชวนเอกชนลงทุน PPP gross cost 30 ปี ก่อสร้าง ติดตั้งระบบ จัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) มอเตอร์เวย์ 2 สาย 2 สัญญาคือบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. และบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. จะขายซองเดือน มี.ค. และเปิดยื่นต้นเดือน ส.ค. คาดได้ผู้ชนะเดือน ต.ค.และเซ็นสัญญาในปีนี้ หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
“งานนี้เชิญทั่วโลกมาประมูลด้วยมียุโรป ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ส่วนบริษัทไทยต้องร่วมต่างชาติตั้งบริษัท SPV ซึ่งเป็น PPP โครงการแรกของกรม โดยใช้ระบบทันสมัยที่สุด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบให้สายอื่น ๆ”
การลงทุนระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆ โดยบางปะอิน-โคราช ลงทุน 7,965 ล้านบาท บางใหญ่-กาญจนบุรี 6,089 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน ส่วนระยะที่ 2 เอกชนจะจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี
สัมปทาน 30 ปี
“รายได้ค่าผ่านทางจะนำส่งคลัง โดยจ่ายให้เอกชนเป็นรายปี มีค่างานระบบ ค่าบำรุงรักษาโครงการของบางปะอิน-นครราชสีมาไม่เกิน 33,258 ล้านบาท ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี 27,828 ล้านบาทรวม 61,086 ล้านบาท อยู่ที่ข้อเสนอและระบบที่เอกชนเลือก ถ้าเป็นฟรีโฟลว์ (ไร้ไม้กั้น) จะไม่มีค่าแรงเรื่องคน ต้นทุนจะถูก”
ปัจจุบันงานก่อสร้างบางปะอิน-โคราช คืบหน้า 25% แล้วเสร็จปลายปี 2563 ค่าผ่านทางตามระยะทาง มีค่าแรกเข้า 10 บาท คิดเพิ่มกิโลเมตรละ 1.25 บาท ปีแรกปริมาณจราจร 17,000-18,000 เที่ยวคันต่อวัน มีรายได้ 2,063 ล้านบาท มี 9 ด่าน ได้แก่ บางปะอิน วังน้อย หินกอง สระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้วและขามทะเลสอ บางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้า 5% ล่าช้าจากแผน 8-9 เดือน ติดปัญหาเวนคืนที่ดิน เลื่อนเปิดใช้ปี 2564 มีค่าแรกเข้า 10 บาท คิดเพิ่มกิโลเมตรละ 1.50 บาท ปีแรกมีปริมาณจราจร 9,000-10,000 เที่ยวคันต่อวัน มีรายได้ 945 ล้านบาท มี 8 ด่านได้แก่บางใหญ่ นครชัยศรี ชุมทางนครชัยศรี นครปฐมฝั่งตะวันออก นครปฐม ฝั่งตะวันตก ท่าม่วง ท่ามะกา และกาญจนบุรี
“คาดทั้งสองสายจะโตปีละ 3% จะปรับค่าผ่านทางทุก 7 ปี รายได้ช่วงแรกอาจไม่พอต่อค่าใช้จ่าย โดยบางปะอิน-โคราชอยู่ที่ 2 ปี บางใหญ่-กาญจนบุรี 12 ปี”
นายทวี เกศิสำอาง รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมทางหลวง กล่าวว่า ระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ใหม่เป็น multilane free flow (ไหลทุกช่องทาง) เป็นการทรานส์ฟอร์มระบบเก็บเงินรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จะติดตั้งระบบอัตโนมัติแบบไร้ไม้กั้น ช่องจ่ายเงินสดอยู่ด้านข้าง เพื่อลดการจ้างคนและแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ซึ่งต่างประเทศใช้อย่างแพร่หลาย
“เอกชนต้องยื่น 3 ซอง มีเทคนิค ราคาและซองที่ 3 กรมให้เอกชนเสนอปรับปรุงระบบเก็บเงินเป็น free flow 100% ใน 5 ปี จากปีแรกจะเปิดเฉพาะขาเข้าก่อน โดยพิจารณาข้อเสนอเฉพาะรายที่ผ่านคัดเลือก”
ทุกบัตรรูดได้หมด
นอกจากนี้ยังให้เอกชนนำระบบ RFID มาใช้เพื่อประหยัดต้นทุน โดยติดหน้ารถก็วิ่งผ่านช่องเก็บเงินได้และใช้ได้กับบัตรทุกประเภท ทั้ง Easy Pass, M Pass, แรบบิท, แมงมุม, สมาร์ทเพิร์ส ทั้งแบบเติมเงินในบัตร (prepaid) และบัตรแบบจ่ายเงินหลังใช้งาน (postpaid) โดยผูกบัญชีไว้กับเงินฝากและบัตรเครดิต ซึ่งเอกชนที่ได้สัมปทานจะต้องจัดการชำระหนี้ให้กรม อีกทั้งผู้ถือบัตรก็สามารถซื้อสินค้าในร้านค้าที่จุดพักรถได้
“หากระบบนี้สำเร็จ จะนำไปใช้กับระบบมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 รวมถึงสายใหม่ ๆ ในอนาคต”
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 กรมทางหลวงรับฟังความคิดเห็นร่างทีโออาร์งานระบบมอเตอร์เวย์มีบริษัทเอกชนไทยและต่างชาติสนใจ 300 บริษัททั้งรับเหมาก่อสร้าง ผู้ประกอบการทางด่วน โทลล์เวย์ รถไฟฟ้า สถาบันการเงิน สถานทูตและบริษัทที่ปรึกษา อาทิ อิตาเลียนไทยฯ, ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, ยูนิคฯ, เนาวรัตน์พัฒนาการ, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM, บมจ.ทางยกระดับดอนเมืองหรือโทลล์เวย์, บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC, บจ.เจริญโภคภัณฑ์ วิศวกรรม, สมาร์ททราฟฟิค, ล็อกซเล่ย์, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, มารูเบนี, มิตซูบิชิ
ที่น่าสนใจ BEM จัดเจ้าหน้าที่ 10 คนร่วมเข้าฟังและสนใจร่วมประมูล เพราะเป็นธุรกิจที่ถนัด แต่ขอดูเงื่อนไขว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
ซี.พี.สนบางปะอิน-โคราช
แหล่งข่าวจาก บจ.เจริญโภคภัณฑ์ วิศวกรรม ในเครือ ซี.พี.เปิดเผยว่า บริษัทสนใจจะเข้าประมูลงานระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ เพราะมีความเสี่ยงน้อย เป็นการลงทุน PPP Gross Cost เอกชนรับจ้างเก็บเงิน ไม่เสี่ยงเรื่องรายได้
“เป็นครั้งแรกที่บริษัทขยายการลงทุนมายังเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของซี.พี. เพื่อต่อยอดธุรกิจในเครือ เช่น บัตรสมาร์ทเพิร์ส ซึ่งปัจจุบันใช้ร่วมกับโทลล์เวย์”
การประมูลจะร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งบริษัทใหม่เป็น SPV ซี.พี.เป็นแกนนำโดยยื่นประมูลทั้ง 2 สาย แต่เน้นบางปะอิน-โคราชเป็นหลัก เนื่องจากพร้อมที่สุด
“กำลังหาพันธมิตรทั้งบริษัทไทยที่เป็นรับเหมาแถวหน้า ผู้เชี่ยวชาญงานระบบส่วนโอเปอเรตและซ่อมบำรุงกำลังคุยกับจีน ยุโรป เพื่อเซตทีมสู้กับ BEM และโทลล์เวย์”
BTS-ITD ผนึกสู้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.BTSC กล่าวว่า บริษัทสนใจเพราะมีประสบการณ์และผลงานจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ทั้งยังมีบัตรแรบบิทที่นำมาใช้ในระบบได้ อาจยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าBSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) หรืออาจมีพันธมิตรใหม่เพิ่ม
ด้านนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กับนายธานินทร์ พานิชชีวะกรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ก็สนใจร่วมประมูล
ขอบคุณข้อมูล : prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.