โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development )หรืออีอีซีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งความหวังว่าจะเป็นการปลุกการลงทุนรอบใหม่มติครม.เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559จึงเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือกระทรวงอุตสาหกรรม สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณในปีงบประมาณ2560-2561 แบบบูรณาการ
ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้ เป็นกลไกขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในระยะ 10 ปี (2560-2569) รองรับการลงทุนในพื้นที่ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีแรก แบ่งเป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท การลงทุนด้านการท่องเที่ยวคุณภาพและเชิงสุขภาพ 2 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะการลงทุนด้านเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาทในเบื้องต้นมี 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา จะเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเมืองฉะเชิงเทรากับจังหวัดชลบุรี 2.เมืองใหม่ระยอง ที่อยู่เลยจากตัวเมืองระยองและใกล้กับอำเภอบ้านค่าย 3.เมืองใหม่พัทยา เป็นพื้นที่เดียวกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กำหนดไว้แล้ว 4.เมืองใหม่อู่ตะเภา อยู่ห่างจกสนามบินอู่ตะเภาราว 5กิโลเมตร ทั้ง4 เมืองใหม่นี้จะรองรับประชากรในพื้นที่ที่จะเพิ่มขึ้น5 เท่าใน10 ปีนับจากปี2559 อยู่ที่ 2.4 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 13.5 ล้านคน จากที่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเข้ามา ทำให้คนเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก
ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ที่คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือราวกลางปี2560
10 กลุ่มใหม่ตัวเร่งอินดัสตรี 4.0
โดยกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ต้องการจะต่อยอดการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเป็นเส้นเลือดใหญ่ของฐานการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญและมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศนับจากที่ เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่เริ่มดำเนินการในปี 2524 จนวันนี้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นจุดศูนย์รวมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ รวมไปถึงการมีความพร้อมด้านปริมาณน้ำรองรับการผลิต โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว
ตามเป้าหมายพื้นที่อีอีซี จะถูกยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมเมือง นอกจากเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศแล้ว รัฐบาลยังมีการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต(New Engine of Growth) ทั้งที่เป็นการต่อยอด5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ(First S-curve) และการพัฒนา 5อุตสาหกรรมอนาคต(New S-curve)(ดูตาราง)
โดยรัฐบาลคาดหวังว่าพื้นที่อีอีซีจะเป็นตัวเร่งสำคัญในการกระตุ้นให้ไทยเดินหน้าไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ อินดัสตรี 4.0 ที่ผสานเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมเข้ากับเทคโนโลยีไอที และจะเป็นตัวจุดประกายในการปลุกเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั้งยืนในระยะยาวนับจากปี2560 เป็นต้นไป
สอดคล้องกับที่หลายสำนักด้านเศรษฐกิจต่างออกมาประเมินว่า ปี2560 เศรษฐกิจจะโต 3.5-4% โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 แรงส่งสำคัญคือ 1. การลงทุนจากภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสุวรรณภูมิเฟส2 รถไฟทางคู่ ทางหลวงมอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ หลังจากที่โครงการเหล่านี้ผ่านมติครม. แล้ว บางโครงการอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมา หลังจากนั้นงานก่อสร้างก็จะตามมา 2. การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้าพื้นที่ชัดเจนขึ้นทั้งในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่เกิดจากทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอและโดยกลุ่มทุนไทย
พื้นที่ลงทุน-สิทธิประโยชน์ส่งเสริมพร้อม
การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ภาครัฐประเมินว่า ในเบื้องต้นจะมีความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรมถึง 7 หมื่นไร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เตรียมพัฒนาพื้นที่นิคมอีกกว่า 1.50 หมื่นไร่ ขณะที่ผู้พัฒนานิคมฯเอกชนในภาคตะวันออก 3 กลุ่มหลักประกอบด้วย กลุ่มเหมราช อมตะ และปิ่นทอง มีพื้นที่เตรียมพัฒนาในระยะแรกรวมกันแล้วราว 2 หมื่นไร่
สำหรับสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตัวหลักๆไล่ตั้งแต่การเตรียมขยายเพดานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปี เป็น13 ปี ภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และเป็น15 ปี ภายใต้พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่5กลุ่มใน First S-curve และอีก5กลุ่มใน New S-curve อีกทั้ง นักลงทุนต่างชาติต่างที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการเช่าเป็นระยะเวลา 50 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 49 ปี ประกาศเป็นเขตปลอดอากร โดยอนุญาตให้พำนักหรือวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี และให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องแลกเป็นสกุลเงินบาท รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์การเป็นสำนักงานภูมิภาค และการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.