“ศรีราชา” แหล่งขุดทองใหม่ในวงการธุรกิจโรงแรม นักลงทุนแห่งขึ้นโครงการ ด้านภาครัฐวางมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้พักอาศัย หลังเป็นเมืองการค้า ลงทุน มีผู้เข้ามาพักอาศัยทั้งชาวไทย และเทศ จำนวนมาก เผยมีกว่า 100 แห่ง อยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากไม่ได้ก็ต้องเลิกกิจการ เพราะหวั่นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบใหม่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ที่รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจ หรือ Ecc ซึ่ง ศรีราชาเองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลพวงจากโครงการดังกล่าว ศักยภาพในการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ เร็วกว่าภูมิภาคอื่น
เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญทั้งการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การลงทุนของเอกชน การลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวมาพร้อมๆ กัน กลุ่มนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่พักอาศัยใน ในอำเภอศรีราชา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแหล่งชุมชนชาวญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ เมืองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รงมทั้งโครงการก่อสร้างโรงแรมที่พักก็เพิ่มมากขึ้น
ดั้งนั้น ทางอำเภอศรีราชา จึงได้วางมาตรการเข้มต่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม หลังกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เข้าพักอาศัยในโรงแรมดังกล่าว
สำหรับอำเภอศรีราชา มีธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองศรีราชาเป็นเมืองอุตสาหกรรม การค้าขาย และภาคธุรกิจบริการ จึงมีนักธุรกิจ และผู้ประกอบการทั้งชาวไทย และต่างประเทศมาพักอาศัยและที่เดินทางไปมาเพื่อมาพักผ่อนก็เข้ามาพักอาศัยจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่มีทั้งที่ได้มาตรฐาน และไม่ได้มาตรฐาน
โดยธุรกิจโรงแรมในอำเภอศรีราชานั้นมีมากเกือบ 200 แห่ง โดยดำเนินการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งสิ้น 33 แห่ง และอีกกว่า 160 แห่ง ยังไม่ถูกต้อง และต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ปลัดอำเภอศรีราชา ตำรวจทหาร เข้าไปตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุง
นายวรญาณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาที่ตรวจพบไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่ใช้ปัญหาใหญ่ และสามารถแก้ไขได้ เช่น บันไดหนีไฟไม่มี ทางเดินแคบไป ซึ่งขณะนี้ได้ให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงโดยให้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และรัฐก็มีรายได้ด้วย แต่หากไม่ดำเนินการได้ตามคำชี้แนะของเจ้าหน้าที่ก็ต้องหยุดกิจการ หรือฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข คือ ตัวอาคารที่ก่อสร้างมาตั้งแต่แรก เช่น ระยะร่นระหว่างถนน อาคารก่อสร้างใกล้กับโรงเรียนและวัด แต่อย่างไรก็ตาม ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ได้ลดหย่อยผ่อนปรนให้บ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้โดยธุรกิจไม่หยุดชะงัก และประชาชนที่พักอาศัยต้องปลอดภัย
“สาเหตุที่ต้องวางมาตรการเข้มดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหา หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ด้านอาชญากรรม หากโรงแรมไม่มีการลงบันทึกประวัติของผู้ที่เข้ามาพักอาศัยคนร้ายอาจก็เหตุได้ ปัญหาอุบัติภัย เช่น บันไดหนีไฟไม่มี ทางเดินไม่กว้าง อุปกรณ์ดับไฟไม่มี หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น และไม่สามารถหลบหนีได้ทันก็จะสร้างความเสียหายอย่างมาก ดังนั้น มาตรการที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการดูแลคุ้มครองชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ตัวประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องวางมาตรการเข้มเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน และเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน”
ขอบคุณข้อมูล MGR Online
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.