ระยอง “เป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือ ซูเปอร์คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์เป้าหมายของระยอง คือ ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นกำลังหนุนที่สำคัญ
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงระดมอัดงบประมาณ ดันโครงการต่าง ๆ ลงมายังพื้นที่จังหวัดระยองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ การขยายสนามบินอู่ตะเภา และการขยายมอเตอร์เวย์ เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากที่สุด
นิคม-ชุมชนอุตฯเยอะสุด 23 แห่ง
ข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ปี 2558 ระบุว่า จังหวัดระยองมีนิคมอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินการกับเอกชน 8 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง พื้นที่ 10,215 ไร่ 2.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง พื้นที่ 2,500 ไร่ 3.นิคมอุตสาหกรรมผาแดง อ.เมือง พื้นที่ 540 ไร่ 4.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) อ.ปลวกแดง พื้นที่ 11,062 ไร่
5.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ อ.ปลวกแดง พื้นที่ 8,634 ไร่ 6.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง พื้นที่ 2,595 ไร่ 7.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.ปลวกแดง พื้นที่ 2,490 ไร่ 8.นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล อ.เมือง พื้นที่ 1,703 ไร่ นอกจากนี้ยังมีเขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 แห่ง ชุมชนอุตสาหกรรม 4 แห่ง สวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง และกลุ่มอุตสาหกรรม 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง
ล่าสุดข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ระบุว่า ปัจจุบันระยองมีโรงงานทั้งสิ้น 2,067 โรงงาน เงินลงทุนรวม 1,338,216,814,556 บาท หรือ 1.3 ล้านล้านบาท มีคนงานจำนวน 161,217 คน แบ่งเป็นรายอำเภอ 8 อำเภอ ประกอบด้วย 1.อำเภอเมือง 652 โรง เงินทุน 8.2 แสนล้านบาท คนงาน 45,602 คน 2.อำเภอปลวกแดง 502 โรง เงินทุน 3.1 แสนล้านบาท คนงาน 59,317 คน 3.อำเภอแกลง 288 โรง เงินทุน 1.7 หมื่นล้านบาท คนงาน 13,684 คน
4.อำเภอนิคมพัฒนา 265 โรง เงินทุน 4.9 หมื่นล้านบาท คนงาน 23,728 คน 5.อำเภอบ้านค่าย 246 โรง เงินทุน 1.2 แสนล้านบาท คนงาน 14,755 คน 6.อำเภอบ้านฉาง 81 โรง เงินทุน 1.5 พันล้านบาท คนงาน 2,740 คน 7.อำเภอวังจันทร์ 27 โรง เงินทุน 811 ล้านบาท คนงาน 739 คน และ 8.อำเภอเขาชะเมา 6 โรงงาน เงินทุน 625 ล้านบาท คนงาน 652 คน
โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเคมี 171 โรงงาน เงินลงทุน 4.8 แสนล้านบาท คนงาน 25,959 คน 2.อุตสาหกรรมขนส่ง 187 โรงงาน เงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท คนงาน 31,736 คน และ 3.อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ 18 โรงงาน เงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท คนงาน 2,474 คน
นิคมขยายอีก 2 หมื่นไร่รับลงทุน
ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนภาคอุตสาหกรรมยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนที่มาร่วมดำเนินงานพัฒนากับ กนอ. และนิคมที่ กนอ.เองได้เตรียมการด้วย สำหรับเอกชนที่สนใจอยากจะมาลงทุนทำนิคมขณะนี้ยังเป็นกลุ่มเดิม ไม่ว่าจะเป็นอมตะ เหมราช ปิ่นทอง หรือเอเชีย ยังมีการขยายอย่างต่อเนื่อง และหลายแห่งเตรียมที่จะขยายอีกรวมแล้วประมาณ 2 หมื่นไร่
ดร.วีรพงศ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของ กนอ. ขณะนี้เหลือเพียงที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แบ่งเป็น 700 ไร่สำหรับพื้นที่พัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ และอีก 1,000 กว่าไร่ เป็นการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ สินค้าวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ต่อเชื่อมจากปิโตรเคมี
ขณะที่เอกชนรายใหม่ที่เข้ามามีประมาณ 2-3 รายที่เจรจากันอยู่ และอยู่ระหว่างทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อาทิ นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะอินดัสทรีส์ และนิคมอุตสาหกรรมคอสมิค ส่วนใหญ่จะรองรับยานยนต์ ชิ้นส่วน ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นแนวโน้มสอดคล้องกับนโยบายประเทศที่จะสนับสนุนไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
“การทำนิคม เอกชนก็ยังสนใจมาก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องของคลัสเตอร์ก็ทำให้การขยายตัวในพื้นที่ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ทั้ง 3 จังหวัดเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
ดร.วีรพงศ์กล่าวถึงกรณีนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ต.สำนักทอง อ.เมือง พื้นที่ 2,441 ไร่ ที่ศาลปกครองชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมนั้น จะทำให้เอกชนกังวลเรื่องการลงทุนหรือไม่ว่า เรื่องนี้ กนอ.ยืนยันว่าได้ทำตามวิธีขั้นตอนของเรา คือ เมื่อมีใครมาขอร่วมจัดตั้งนิคม ทาง กนอ.ก็ต้องประกาศเขต ซึ่งเป็นเพียงผังก้อนใหญ่ที่ยังไม่ได้จัดสรร ในระหว่างนั้นผู้ที่จัดได้ไปยื่นทำอีไอเอ แต่ยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่าต้องรออีไอเอก่อนถึงจะประกาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องอุทธรณ์สู้ต่อ
“ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ที่องค์กรเอกชนสามารถใช้สิทธิ์ตามกระบวนการกฎหมาย แต่นักลงทุนก็ไม่ได้มีความวิตกหวั่นไหวอะไร เพราะว่าวันนี้ทุกอย่างก็ทำตามขั้นตอนหมด” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว
โซนปลวกแดงทำเลฮอต
นายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดระยอง (GPP) 80% มาจากภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ คือ โรงงานปิโตรเคมี และล่าสุดเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ระยองมีโรงงานเข้ามาตั้งเพิ่มอีก 14 ราย เป็นอุตสาหกรรมทั่วไป มูลค่าการลงทุนรวม 160 ล้านบาท และในอนาคตมองว่าระยองยังมีพื้นที่อีกมากที่จะรองรับภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นพื้นที่ที่ยังดึงดูดนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันคือภาวะของเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็เป็นเช่นนี้ สำหรับโซนที่อุตสาหกรรมเติบโตมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีนี้ คือ โซนอำเภอปลวกแดง ติดกับอำเภอบ่อวิน จังหวัดชลบุรี บริเวณแนวถนนหมายเลข 331 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโรงงานเกี่ยวกับยานยนต์ ซ่อมสร้าง ซึ่งทำให้ชุมชนขยายตัวหนาแน่นตามไปด้วย
สำหรับนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ จะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เน้นความปลอดภัย ที่ระยองจะเป็นเรื่องปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะนำสินค้าเกษตรมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เช่น กากน้ำตาล และเมื่อวัตถุดิบมาจากการเกษตร ก็จะทำให้ไม่ก่อปัญหาด้านมลพิษสูง ไม่ทำร้ายชุมชน อีกอย่างคือยานยนต์เพื่ออนาคต ซึ่งจะมีการวิเคราะห์วิจัย เช่น หาสารอื่นมาทดแทนน้ำมัน หรือยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า อาจจะนำโปรเจ็กต์จากต่างประเทศที่วิจัยแล้วมาต่อยอด ซึ่งเรามีฐานการผลิตยานยนต์อยู่แล้ว
เหล่านี้ทำให้ระยองเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยดึงเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดิ่งหัวลงให้ฟื้นกลับคืนมา
ขอขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ
ที่มา :http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1460345547
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.