กรมทางหลวงทุ่มเฉียด 3 แสนล้าน สร้างมอเตอร์เวย์และทางยกระดับ แก้รถติด รับเมืองขยายและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดึงเอกชนลงทุน PPP กว่า 2.76 แสนล้าน ก่อสร้างและติดตั้งระบบ เร่งต่อขยายโทลล์เวย์และทางยกระดับพระราม 2 ปรับสปีด “กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน” เชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวาย
นายสุรชัย ศรีเลณวัติ ผู้อำนวยการสำนักแผนงานกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์อีก 4 เส้นทาง ตามที่บรรจุอยู่ในแผนการลงทุน PPP ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเป็นแผนลงทุนปี 2558-2562 ระยะทางรวม 272 กม. เงินลงทุนรวม 276,600 ล้านบาท รองรับการเดินทางไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน นอกเหนือจาก 3 เส้นทางกำลังประมูลก่อสร้าง ได้แก่
สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. ลงทุน 20,200 ล้านบาท,
บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ลงทุน 84,600 ล้านบาท และ
บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ลงทุน 55,620 ล้านบาท
ดึงเอกชนลงทุน 4 โครงการ
แยกเป็น 1.นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. เงินลงทุน 80,600 ล้านบาท ขณะนี้ผลศึกษาเสร็จแล้ว จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนทั้งงานก่อสร้างและการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนการบริหารจัดการและงานบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งกรมได้เสนอกระทรวงคมนาคมบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนปี 2560 แล้ว หากได้รับการอนุมัติจะเปิดประมูลปีหน้าและเริ่มเวนคืนที่ดินในปี 2561 และเริ่มสร้างปี 2562 เปิดใช้ปี 2565
โดยโครงการนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ในการแบ่งเบาความแออัดของการจราจรบนถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเพียงสายเดียวในการเดินทางสู่ภาคใต้ รูปก่อสร้างเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรระดับพื้นดิน แนวเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่ จ.นครปฐม จากนั้นจะลากผ่าน จ.ราชบุรี สมุทรสงคราม สิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
2.หาดใหญ่-สะเดา (ชายแดนไทย-มาเลเซีย) ระยะทาง 60 กม. เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณปี 2560 ศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน จะเป็นการลงทุนทั้งโครงการหรือเฉพาะงานบริหารจัดการและงานบำรุงรักษา คาดว่าจะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ
“โครงการนี้จะเป็นโครงข่าย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และสนับสนุนเศรษฐกิจและการขนส่งระหว่างไทยกับมาเลเซีย”
นายสุรชัยกล่าวอีกว่า แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ กม.26+000 บนถนนสาย สข.4034 (สายเก่า) บริเวณพื้นที่บ้านทุ่งเลียบ ไปสิ้นสุดที่ กม.62+596 บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ขนาด 4 ช่องจราจร จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี
เร่งต่อขยายโทลล์เวย์-พระราม 2
3.ทางยกระดับพระราม 2 ระยะทาง 75 กม. เงินลงทุน 89,000 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นจากวงแหวนกาญจนภิเษก สิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม เชื่อมกับมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ จะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ และ 4.ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ เงินลงทุน 24,000 ล้านบาท โดยให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ แนวเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณโรงกษาปณ์ กม.33+924 และสร้างไปตามเกาะกลางถนนพหลโยธินตรงไปจนถึงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 18 กม.
นอกจากนี้กรมจะเร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 82 กม. เงินลงทุน 48,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนการบริหารจัดการและงานบำรุงรักษา จะก่อสร้างปี 2560 เปิดใช้บริการปี 2563 จะเป็นเส้นทางที่ต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และท่าเรือน้ำลึกทวาย
แนวเส้นทางต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะตัดผ่านถนนแสงชูโต (สาย 323) บริเวณ ต.วังศาลา ต.วังขนาย ต.ม่วงชุม ต.เขาน้อย ต.บ้านใหม่ และ ต.รางสาลี่ ในพื้นที่ อ.ท่าม่วง จากนั้นผ่านพื้นที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย บริเวณ ต.กลอนโด ต.จรเข้เผือก ต.บ้านเก่า และ ต.ศรีมงคล แล้วช่วงปลายทางจะก่อสร้างเป็นอุโมงค์ยาว 2 กม. ก่อนถึงจุดสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-เมียนมา บ้านพุน้ำร้อน บริเวณ กม.ที่ 82+100 เวนคืน 4,314 ไร่ เป็นพื้นที่ธนารักษ์ (ทหารดูแล) 1,050 ไร่ ที่โฉนด, ส.ป.ก. และ ภ.บ.ท.5 จำนวน 3,264 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 64 หลัง และพืชผลต้นไม้ 2,454 ไร่
“โครงการใหม่ที่กรมจะเริ่มดำเนินการในระยะถัดไป จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนามอเตอร์เวย์ 20 ปีที่กรมได้จัดทำเป็นแผนแม่บทไว้ โดยอยู่ในแผนพัฒนาระยะ 10 ปีแรก เริ่มปี 2560-2569”
เปิดพิมพ์เขียว 20 ปี 2 ล้านล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง ระยะ 20 ปี มี 21 สายทาง ใช้เงินลงทุน 2.11 ล้านล้านบาท แยกเป็นระยะ 10 ปี มี 16 สายทาง รวม 3,120 กม. เงินลงทุน 1.24 ล้านล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1.12 ล้านล้านบาทและค่าเวนคืน 1.2 แสนล้านบาท
ได้แก่ 1.บางปะอิน-เชียงราย 908 กม. เร่งช่วงรังสิต-บางปะอิน 2.บางปะอิน-หนองคาย 510 กม. 3.กรุงเทพ-บ้านฉาง 153 กม. เร่งช่วงพัทยา-มาบตาพุด 4.นครปฐม-นราธิวาส 1,098 กม. เร่งช่วงนครปฐม-ชะอำ-ชุมพร 409 กม. 5.วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2 ระยะทาง 165 กม. 6.เชียงใหม่-ลำปาง 53 กม. 7.ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-นครราชสีมา 288 กม. เร่งช่วงชลบุรี-ปราจีนบุรี 117 กม. 8.วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2 ด้านตะวันออก-สระบุรี 78 กม. 9.วงแหวนรอบนอกตะวันออก-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) 204 กม.
10.ชลบุรี-ตราด 216 กม.11.บางใหญ่-กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน 164 กม.12.วงแหวนรอบนอกตะวันรอบที่ 2-ปากท่อ 74 กม. 13.สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต 187 กม. 14.สงขลา-ด่านสะเดา 95 กม. 15.วงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 254 กม. และ 16.ชลบุรี-นครปฐม 96 กม.
ส่วนระยะที่ 2 มี 5 สายทาง รวม 3,152 กม. ลงทุนกว่า 8.7 แสนล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 8.5 แสนล้านบาทและค่าเวนคืน 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ตาก-มุกดาหาร 703 กม. 2.สุรินทร์-บึงกาฬ 454 กม. 3.นครสวรรค์-อุบลราชธานี 610 กม. 4.สุพรรณบุรี-ชัยนาท 42 กม.และ 5.วงแหวนรอบที่ 2 ตะวันตก-บางปะหัน 48 กม.
ขอบคุณข้อมูล:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.