เอกชนหวั่น “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน” โหด! เปิดทาง อปท. ยึดที่ดินขายทอดตลาดได้ หากไม่จ่ายภาษีภายใน 90 วัน เปิดช่องนายทุนอาศัยช่องว่างยึดที่ชาวบ้าน ด้าน “อธิป พีชานนท์” ระบุ ต้องเป็นคำสั่งศาล ยึดทรัพย์ต้องใกล้เคียงกับมูลค่าภาษีที่ค้าง
แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. จะผ่อนปรนอัตราเรียกเก็บภาษีแต่ละประเภทให้บรรเทาลง แต่ปรากฏว่า ยังมีบทบัญญัติหนึ่งที่เจ้าของที่ดินต่างตื่นตระหนกว่า หากเลยกำหนดระยะเวลาชำระภาษี 90 วัน หรือ 3 เดือน กฎหมายให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถยึดทรัพย์ที่ค้างชำระภาษีขายทอดตลาดได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการหารือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่เขียนไว้ว่า ถ้าไม่ชำระภาษีใน 3 เดือน รัฐมีสิทธิ์ยึดที่ดินไปขายทอดตลาดได้
โดยส่วนตัวมองว่า เป็นกลไกที่บางทีเจ้าของที่ดินอาจจะลืมติดต่อก็เป็นไปได้ จึงคิดว่า ไม่ควรถึงขั้นยึด น่าจะเป็นเพียงการอายัดไม่ให้ซื้อขาย ถ้าเจ้าของจะทำการซื้อขายเมื่อไร ก็ต้องมาเสียภาษี หรือไม่หากอายัดไว้ 3 ปี แล้วไม่มาเสียภาษีอีก ก็ค่อยว่ากัน ก็ต้องยึดแล้วก็ขายทอดตลาด แต่กฎหมายที่ดินฉบับนี้เขาไม่ยอมให้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องพยายามคุยต่อไป
“ผมกลัวว่า หากชาวบ้านไม่รู้เรื่อง แล้วโดนยึดไปขายทอดตลาด สมมติว่า มีคนฉวยโอกาสกับคนที่ไม่รู้เรื่อง มีนายทุนรู้ว่ามีที่ดินแปลงนี้ ก็วางแผนยึดขายทอดตลาด นายทุนก็มาซื้อ เจ้าของที่ก็ไม่รู้เรื่องอะไร คนเอาที่ดินไปแล้ว ซึ่งที่ดินอาจจะมีมูลค่ามากกว่าที่ขายทอดตลาดก็ได้”
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหมวด 6 ว่าด้วย “การประเมินภาษี การชำระภาษี และการคืนภาษี” กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษีภายในเดือน ก.พ. ของทุกปี และให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภายในเดือน เม.ย. ของทุกปี โดยการชำระภาษีอาจผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กันได้
ขณะที่ หมวด 8 ว่าด้วย “ภาษีค้างชำระ” ระบุว่า ภายในเดือน มิ.ย. ของทุกปี ให้ อปท. แจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดิน หรือ สำนักงานที่ดินสาขา ทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิในการครอบครองในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ หากที่ดินสิ่งปลูกสร้างแปลงใดค้างชำระภาษีจะไม่สามารถทำนิติกรรมได้
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ อปท. เร่งรัดภาษีค้างชำระ ด้วยการออกหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้เสียภาษีมาชำระภาษี พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเดือน พ.ค. ของทุกปี ถ้าผู้เสียภาษีไม่มาชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนแล้ว ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษี เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายในการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ โดยไม่ต้องขอให้ศาลมีคำสั่ง แต่ห้ามไม่ให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเกินกว่าความจำเป็นที่พอจะชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายกำหนดว่า การออกคำสั่งเป็นหนังสือ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้บริหารท้องถิ่น ในกรณีที่เป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกเมืองพัทยา ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ในกรณีที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีไว้แล้ว ถ้าผู้เสียภาษีนำเงินมาจ่ายภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยครบถ้วน ก่อนการขายทอดตลาด ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และดำเนินการแจ้งถอนการยึดหรืออายัดไปยังพนักงานผู้ยึดหรืออายัดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ชำระภาษีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้อัตราภาษีที่กำหนดในร่างกฎหมาย เพราะยังเป็นอัตราสูงสุด ซึ่งก็เข้าใจว่ามีกฎหมายลูก ว่าจะคิดในอัตราเท่าไร เชื่อว่าหากมีกฎหมายลูกออกมาแล้วจะไม่กระทบกระเทือนเท่าไร และจะเป็นผลดีมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ปัญหา คือ มีบางเรื่องที่เป็นข้อจำกัดที่เป็นห่วง ยกตัวอย่าง กรณีขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขามีข้อยกเว้นให้ แม้ว่าส่วนกลางกำหนดอัตราราคาจัดเก็บภาษีจากภาคอุตสาหกรรม 0.5% ต่อไร่ของราคาที่ดิน แต่กฎหมายเขียนยกเว้นให้ท้องถิ่นว่า สามารเก็บในอัตราสูงสุดได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บตามประกาศของกระทรวง
“เขาอาจจะต้องการให้ส่วนท้องถิ่นอยู่ได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราก็เป็นห่วงและก็เข้าใจว่า ท้องถิ่นก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการพัฒนา อาจจะเก็บเรียกสูงในอัตราสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นปัญหากับคนในท้องที่ก็เป็นไปได้ เพราะผู้ประกอบการแต่ละแห่งมีต้นทุนไม่เท่ากัน” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และในฐานะประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวได้สอบถามไปยัง กมธ.ร่างภาษีที่ดินฯ ซึ่งชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริง หากมีการผิดนัดชำระภาษีจริง ท้องถิ่นจะยึดทรัพย์สินมูลค่าใกล้เคียงกับบ้านหรือที่ดินที่ค้างชำระ เช่น รถไถ ฯลฯ โดยให้ศาลเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ยึดอะไรได้บ้าง แต่หากจะยึดบ้านทั้งหลังราคาหลักล้านมาชดใช้ภาษีที่ค้างชำระเพียงหลัก 100 มองว่า ไม่สมเหตุสมผล สำหรับข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอไป กมธ. ขอจัดเก็บอัตราเดียวทุกประเภทกิจการ ยังไม่ได้รับการปรับแก้ แต่โดยภาพรวมหลายรายถูกปรับลดลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดี
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.