ไทยหารือญี่ปุ่นชื่นมื่นรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมหนุนบริษัทเอกชนลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นและส่งเสริมไทย ดึงลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองและเส้นทาง East-West Corridorเชื่อมเวียดนามผ่านไทยถึงอินเดีย
การเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวน570 ราย นำโดยนายฮิโระชิเกะเซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) ระหว่างวันที่11-13 กันยายน 2560 ในโอกาสครบรอบ 130 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่นและได้เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการเยือนของคณะนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยยกประเด็นขึ้นมาหารือ 4-5 ข้อ โดยฝ่ายไทยขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-WestCorridor ที่เชื่อมจากเวียดนามสู่ลาวและผ่านเข้าสู่ไทย-เมียนมาออกไปยังอินเดีย เนื่องจากจะยิ่งช่วยเสริมสร้างความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับภูมิภาคนอกเหนือไปจากเส้นทางรถยนต์ที่มีอยู่แล้วในเวลานี้
นอกจากนี้ เนื่องจากไทยสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) โดยทางญี่ปุ่นมีบทบาทในการเจรจา จึงขอให้แบ่งปันข้อมูล เพื่อให้ฝ่ายไทยได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วม รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ได้ขอให้ทางญี่ปุ่นแสดงบทบาทนำในการขับเคลื่อนการเจรจาโดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้า
ขณะที่ไทยมียุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี อยากให้ญี่ปุ่นสนับสนุนไทยในการปฏิรูปอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0และให้เข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
นายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในไทยจำนวนมากเชื่อว่าการเดินทางมาเยือนครั้งนี้จะเกิดการขยายการลงทุนจากรายเก่าและรายใหม่เพิ่มขึ้น ตามนโยบายของประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษจูงใจค่อนข้างมาก ประกอบกับทางญี่ปุ่นคาดหวังไทยค่อนข้างมากในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการขับเคลื่อนห่วงโซ่ด้านการผลิตสู่ภูมิภาคนี้ ส่วนการตัดสินใจของนักลงทุน ภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีความชัดเจนของเม็ดเงินลงทุนที่จะออกมา เนื่องจากจะต้องรอสรุปผลการดำเนินงานของการเดินทางเยือนครั้งนี้ก่อน
++นวัตกรรมพาไปสู่เป้าหมาย
นายฮิโระชิเกะ เซโกะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น(เมติ) กล่าวในงาน “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้การเชื่อมนโยบาย Thailand 4.0 towards Connected Industries” ซึ่งเป็นงานสัมมนาครั้งใหญ่ที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าร่วมงานจำนวนมาก กล่าวว่าญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนและเล็งเห็นว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทยที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้
ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเองมีประสบการณ์การบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในประเทศทั้งยังตระหนักดีถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต มาใช้เชื่อมโยงกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในภาคอุตสาหกรรม จากประสบการณ์ที่มีมายาวนาน ญี่ปุ่นจึงพร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนไทยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการส่งเสริมบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยด้วย
++อีอีซีเป็นหัวจักรขับเคลื่อน
ด้านนายฮิโระยุกิ อิชิเกะประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)เปิดเผยว่าตัวเลขการลงทนุ ของญี่ปุ่นในประเทศไทยเมื่อปี 2559นั้น สูงถึง 71,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีบริษัทญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจอยู่ในไทยกว่า 5,000 บริษัทซึ่งนับว่าสูงมาก สะท้อนถึงความมั่นใจและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมั่นคง เมื่อไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีโครงการพัฒนาอีอีซี เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญเขามองว่านี่คืออนาคตของเศรษฐกิจไทย และยังจะเป็นโครงการที่กำหนดอนาคตและบทบาทของบริษัทญี่ปุ่นในไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประธานเจโทรกล่าวว่า มีเรื่องที่ไทยต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้นโยบายไทยแลนด์4.0 และการพัฒนาอีอีซีรุดหน้า ตามเป้าหมาย อันดับแรกแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร การขาดแคลนวิศวกร ซึ่งในการนำคณะมาเยือนไทยครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เซ็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตอบโจทย์การพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทยป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านโครงการที่ชื่อว่า Flex Campus อันดับ 2 ต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา(R&D) ให้มากขึ้น ซึ่งเจโทรแนะนำว่า ไทยควรจะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นในพื้นที่อีอีซี
อันดับ 3 พัฒนาโครง สร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งในพื้นที่อีอีซีและการเชื่อมโยงไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมถึงด้านกายภาพ เช่นถนนและระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ไปจนถึงด้านซอฟต์แวร์ เช่นการพัฒนาให้กระบวนการด้านศุลกากรมีความสะดวกรวดเร็ว จุดนี้จะช่วยหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อช่วยเสริมการทำงานของคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ภาคเอกชนของญี่ปุ่นภายใต้หอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย(เจซีซี) จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านอีอีซีขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิดด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 – 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ขอบคุณข้อมูล : thansettakij
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.