ในที่สุด “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” วัย 57 ปี ได้นั่งเก้าอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังข้ามห้วยจากกรมการขนส่งทางบก มารั้งเก้าอี้รอง ผอ.สนข. เมื่อปี 2556
ด้วยดีกรีวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่วงปริญญาโทด้านการขนส่ง ทำให้ “ชัยวัฒน์” ถูกผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคม ดึงตัวมาช่วยงานที่ “สนข.” ดูงานเทคนิคก่อสร้างโครงการระบบรางที่กลายเป็นดาวเด่นเมื่อครั้งบรรจุในแผนลงทุน 2 ล้านล้าน
“ผมรับราชการที่ขนส่งมา 30 ปี มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้มาช่วยงาน สนข. ดูระบบรางเพราะเป็นงานเทคนิค ยังไม่มีวิศวกร คิดว่ามาช่วย 2 ปีแล้วค่อยกลับไปที่ขนส่ง ซึ่งเป็นงานถนัด เพราะเป็นงานปฏิบัติ แต่งานที่ สนข.ค่อนข้างยาก เป็นงานนโยบายและงานแผนที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องประสานกับทุกหน่วยภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องให้แผนเดินหน้า ซึ่งมีทุกมิติทั้งนโยบายและระดับปฏิบัติ เช่น การจราจร ความปลอดภัย” คำพูดเปิดใจของ ผอ.สนข.คนใหม่
ปรับระบบรางรับเทรนด์โลก
ภารกิจ สนข.คือทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับทุกรัฐบาล ชี้นำการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ จะไปทางไหน รัฐบาลชุดนี้มีแผนพัฒนา 8 ปี (2558-2565) เงินลงทุน 1.79 ล้านล้าน ก่อนหน้านี้มีแผน 2 ล้านล้าน อยู่ที่นโยบายจะหยิบตรงไหนมาพัฒนาให้สอดรับกับเศรษฐกิจ ความต้องการของสังคม และปรับโหมดให้เข้าเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลนำมาใช้กับการจัดระบบการจราจรอัจฉริยะ พลังงานไฟฟ้ามาใช้กับรถเมล์ ออกแบบระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ
โดยผลักดันระบบรางเป็นระบบหลักพัฒนาประเทศในอนาคต เพื่อพัฒนาเมือง ลดต้นทุนขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาขาดการพัฒนามานาน ต้องใช้ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมาเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ได้ประโยชน์ 1+1 = 2 แต่ก็ไม่ทิ้งระบบถนน
“การพัฒนาระบบรางจะให้เกิดประโยชน์ ต้องพัฒนาพื้นที่รอบสถานีและรอบข้างด้วย จะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เช่น รถไฟความร่วมมือกับจีนและญี่ปุ่น ผลการศึกษาออกมาว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ด้วยมูลค่าของโครงการที่สูง เพราะใช้เทคโนโลยีต่างประเทศต้องพัฒนาพื้นที่ด้วยถึงจะคุ้ม ให้เกิดการพัฒนาเมืองในภูมิภาค”
ร่างยุทธศาสตร์การขนส่ง 20 ปี
ขณะที่ภารกิจด่วน “ผอ.สนข.” ย้ำว่า เร่งผลักดันนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ สนข.ได้รับมอบหมายให้เกิดเป็นรูปธรรม ล่าสุดกำลังทำแผนการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ 20 ปี ประเทศไทยต้องเดินไปทางไหน จะมีทั้งบก ราง น้ำ อากาศ รวมถึงระบบเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ กฎหมาย และปรับปรุงโครงสร้างองค์กรหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและราชการให้สอดรับกับภารกิจจะเกิดในอนาคต เช่น ขสมก. การรถไฟฯ การบินไทย ต้องกลับไปไขลานตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ อีกเรื่องคือสร้างความปลอดภัยบนถนน 365 วัน ไม่ใช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่
อีกทั้งยังทำรายละเอียดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะระบุไว้ชัดเจนว่าแต่ละพื้นที่มีโครงการอะไรบ้าง ทั้งระบบราง ถนน ท่าเรือ และสนามบิน
อย่างเช่น การพัฒนาภาคตะวันออก สนข.ได้รับนโยบายจากรัฐให้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานภาพรวมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง รองรับการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมที่จะเกิดใหม่ เช่น การแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวระดับสูง ซึ่ง สนข.จะดูว่าพื้นที่พัฒนาอยู่ตรงไหน และกำหนดโครงข่ายเข้าไปหาพื้นที่นั้น เช่น ขยายมอเตอร์เวย์ ถนน รถไฟ ไฮสปีดเทรน ท่าเรือ เพื่อบูตภาคตะวันออกให้มีการพัฒนามากขึ้น
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาระบบรางของประเทศ “ผอ.สนข.” กล่าวว่า มีการพัฒนาระบบรางระหว่างเมือง จะมีรถไฟทางคู่ 1 เมตร จะต้องทำให้ครบ 16 เส้นทางให้ได้ตามแผน ซึ่งการรถไฟฯต้องหารถที่ทันสมัยมาวิ่งบริการและเปิดทางเอกชนให้มีส่วนร่วมการขนส่งสินค้า เช่น ให้เอกชนซื้อรถมาวิ่งบนรางรถไฟ ซึ่งการรถไฟฯจะมีรายได้จากค่าเช่าราง
ส่วนรถไฟสมัยใหม่ หรือรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่ารถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น มีข้อตกลงร่วมกันอยู่ ต้องค่อย ๆ ดำเนินการไปเพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก เป็น “เวรี่เมกะโปรเจ็กต์” และเป็นข้อผูกพันนานหลายปี ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งแนวทางในการทำโครงการลักษณะนี้ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ ซึ่ง สนข.กำลังดำเนินการร่วมกับญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขณะที่รถไฟไทย-จีนยังไม่พูดถึงการพัฒนาเมือง รอสรุปมูลค่าการลงทุนให้อยู่ในวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ใน ก.ย.นี้จะเริ่มสร้างช่วงแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก
เร่งวางพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าเฟส 2
ไม่ใช่แค่เร่งแผนลงทุนใน 8 ปี ผอ.สนข.ระบุว่า กำลังจะทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 หลังรถไฟฟ้า 10 สายเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งงบประมาณ 2560 จ้างที่ปรึกษามาดำเนินการแล้ว จะใช้เวลา 1 ปี
“คอนเซ็ปต์จะเติมเต็มรถไฟฟ้า 10 สายที่ยังขาดอยู่ เป็นระบบฟีดเดอร์ไลน์ หรือรถไฟฟ้าขนาดเบารองรับการเดินทางให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น จะเน้นการพัฒนาเมืองเป็นหลัก ให้คนกระจายไปอยู่รอบนอกมากขึ้น และเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นย่านปริมณฑลที่มีพื้นที่ติดกับกรุงเทพฯ ทั้งนครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ต้องสร้างรถไฟฟ้าไปถึงที่ แผนแม่บทใหม่จะใช้เวลาพัฒนา 20 ปี”
สิ่งสำคัญต้องลำดับความสำคัญโครงการไว้ชัดเจน จะไม่มีปัญหาเหมือนสายสีม่วงและสีน้ำเงินที่สร้างเสร็จไม่พร้อมกัน ทำให้การเดินทางไม่เชื่อมต่อกัน ในแผนแม่บทใหม่ หากสายไหนไม่ได้สร้างจะไม่มีสายอื่นแทรก และแต่ละเส้นทางจะต้องรองรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย จะมีการเคหะแห่งชาติมาร่วมพิจารณาด้วย
BRT-รถรางแก้รถติดเมืองใหญ่
นอกจากนี้ สนข.ยังศึกษาระบบขนส่งในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น หาดใหญ่ สงขลา พิษณุโลก มีทั้งระบบบีอาร์ทีและรถรางไฟฟ้า (แทรม) เป็นการลงทุน PPP โดยรัฐบาลกลางร่วมกับเอกชน มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งหมดนี้ “ชัยวัฒน์” บอกว่า เป็นแผนงานของ สนข.ที่เซตไว้ แต่ที่กำลังจะเห็นผลสิ้นปีนี้ คือ ระบบตั๋วร่วมแมงมุม ซึ่งส.ค.จะติดตั้งและทดสอบระบบเสร็จและเริ่มใช้ ธ.ค. เป็นการเชื่อมการเดินทางรถไฟฟ้า 4 สาย มีสีม่วง น้ำเงิน เขียว และแอร์พอร์ตลิงก์ หลังจากรอคอยกันมานาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.