จังหวัดชลบุรี เมืองชายทะเลภาคตะวันออก คือส่วนผสมที่ลงตัวของเมืองท่องเที่ยว และเมืองอุตสาหกรรม โดยมีท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเป็นประตูบานใหญ่ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นำมาซึ่งความเจริญเติบโตของจังหวัด
ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดชลบุรี ปี 2557 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) อยู่ที่ 634,074 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเกษตร 20,266 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 370,322 ล้านบาท ภาคบริการและการท่องเที่ยว 245,017 ล้านบาท (การขนส่ง 38,046 ล้านบาท ค้าปลีก ค้าส่ง 66,587 ล้านบาท ไฟฟ้า ก๊าซ ประปา 36,028 ล้านบาท การโรงแรม 20,019 ล้านบาท อื่น ๆ 84,337 ล้านบาท) มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 522,511 บาท เป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดระยอง และสมุทรสาคร
รัฐทุ่มโปรเจ็กต์ยักษ์ลงเมืองชล
อีกทั้งสารพัดโปรเจ็กต์จากภาครัฐที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด โครงการรถไฟทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลเมืองพัทยา จากศาลาว่าการเมืองพัทยา-แหลมบาลีฮาย โครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด การพัฒนารถไฟความเร็วสูง กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-พัทยา และพัทยา-ระยอง โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ขยายเส้นทางจากสุวรรณภูมิไปถึงระยอง ผ่านฉะเชิงเทรา พัทยา และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้ชลบุรีในวันข้างหน้ามีศักยภาพเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อสแกนลงไปแต่ละพื้นที่แล้วจะพบว่า ความเติบโตของจังหวัดชลบุรีนี้มีทิศทางที่แตกต่างกันในแต่ละอำเภอ แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองจนกลายเป็นความโดดเด่น และยังทำให้เกิดการลงทุนที่หลากหลาย
แหล่งอุตสาหกรรมเก่า-ใหม่
ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่จุดพลุให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา ได้แก่ อมตะนคร ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ปักหมุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ยุคแรกราว 27 ปีที่ผ่านมา มีการขยายเฟสเรื่อยมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเฟสที่ 10 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง พานทอง และพนัสนิคม ปัจจุบันมีพนักงานในนิคมเกือบ 200,000 คน นำมาซึ่งการเติบโตของชุมชนโดยรอบ
พื้นที่ที่มีการขยายตัวสูงสุดคือ บริเวณ ต.ดอนหัวฬ่อ ต.นาป่า ต.คลองตำหรุ ต.หนองไม้แดง อ.เมือง ซึ่งขณะนี้หนาแน่นขึ้น ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เริ่มหันไปขยายการลงทุนแถวอำเภอพานทอง แต่ยังไม่มากนัก โดยมีหัวหอกกลุ่ม live and living บิ๊กอสังหาฯท้องถิ่น มาปักหลักโครงการแฟมิลี่ พานทอง ก่อนเพื่อน ขณะที่อำเภอพนัสนิคมซึ่งเป็นรอยต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรายังไม่บูมนัก เนื่องจากเป็นชุมชนเก่า และไม่มีแหล่งงาน
ปัจจุบันย่านอุตสาหกรรมใหม่ ย้ายมาที่รอยต่อจังหวัดชลบุรี และระยอง ทำให้ชุมชนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา ที่กลายมาเป็นย่านอุตสาหกรรมใหม่ ที่ดินติดถนนหมายเลข 331 ราคาสูงขึ้นไร่ละ 3-4 ล้านบาทอสังหาฯเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยอิงกับแหล่งงานนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อมตะซิตี้ สยามอีสเทิร์น เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด และอีสเทิร์นซีบอร์ด
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่น อาทิ แพนพลัส พร็อพเพอร์ตี้ และไลฟ์ แอนด์ ลิฟวิ่ง ส่วนทุนจากกรุงเทพฯมีเพียงกลุ่มคิวเฮ้าส์ ซึ่งรูปแบบโครงการจะเป็นทาวน์เฮาส์ และอพาร์ตเมนต์ ค่าเช่ารายเดือนไม่แพง ประมาณเดือนละ 2,000-3,000 บาท ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อาทิ เจริญสินธานี รินรดา มณีริน เพื่อจับกลุ่มแรงงานระดับล่าง
“มีศักดิ์ ชุนห์รักษ์โชติ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของจังหวัดชลบุรีจะอิงกับแหล่งงาน และเกาะกับถนนสายหลักทั้ง 3 สาย คือ สุขุมวิท มอเตอร์เวย์ (สาย 7) และถนนหมายเลข 331 ซึ่ง ต.บ่อวินตั้งอยู่ตามแนวถนนหลวงหมายเลข 331 ปัจจุบันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ ชุมชนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมพื้นที่เป็นเพียงไร่สับปะรด
มีศักดิ์ ขุนห์รักษ์โชติ
ปัจจุบันมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว หรือบ้านชั้นเดียว และคอนโดมิเนียม เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาววัยทำงานตามนิคมที่อยู่รายรอบซึ่งมีการขยายตัวต่อเนื่องสัดส่วนคนชราและเด็กจะน้อยมาก แทบจะเรียกว่าเมืองไม่มีเด็ก ส่วนมากเป็นแรงงานจากต่างจังหวัด หากมีลูกก็ส่งไปให้พ่อแม่เลี้ยง ทำให้ชุมชนแถวนี้เป็นครอบครัวเล็ก ส่วนมากมีฐานะอยู่ระดับล่าง และกลางล่าง ในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นตัว ที่นี่จะฟื้นก่อน เอกชนรายใหญ่มองเป็นบวกระยะยาว
“เชิดชัย ปิติวัชรากุล” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UU กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการจำหน่ายน้ำประปากับ อบต.บ่อวิน มาตั้งแต่ปี 2549 เกือบ 10 ปี ผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 600% เริ่มต้นเพียง 800 กว่าราย ปัจจุบัน 14,000 ราย เติบโตเพราะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นถึง 4 แห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ สยามอีสเทิร์น เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด และอีสเทิร์นซีบอร์ด ปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำประปาอยู่ที่ 16,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และปริมาณการใช้น้ำ 14,000 ลบ.ม./วัน คาดว่าในอนาคตจะมีนิคมเกิดขึ้นอีกมาก จึงเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตอีกวันละ 12,000 ลบ.ม./วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งโรงผลิตระบบจ่ายน้ำ และวางท่อขยายเขตประปา
ศรีราชาเมืองญี่ปุ่น 4 หมื่นคน
นอกจากการเติบโตของโซนอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว เมืองญี่ปุ่นอย่างศรีราชาก็ยังเป็นทำเลการลงทุนใหม่ ๆ “ปราการ นกหงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทในเครือแหลมทองกรุ๊ป (LT Group) กล่าวว่า ความเป็นเมืองญี่ปุ่นของอำเภอศรีราชาก็ยังจะไม่เปลี่ยนไปอีกนาน เนื่องจากมีทั้งความสะดวกสบาย และอยู่ใกล้นิคม มีที่พักอพาร์ตเมนต์ระยะยาวสำหรับญี่ปุ่นเยอะ รวมทั้งฟาซิลิตี้ต่าง ๆ ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาลญี่ปุ่นครบครัน แม้ว่าขณะนี้การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเมืองไทยจะเริ่มลดลงแต่ไม่มาก เรายังเป็นฐานการส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 1-2 ของอาเซียน
อีกทั้งโรงเรียนญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดมา 4-5 ปี ก็มาช่วยเติมเต็ม จากเดิมศรีราชามีกลุ่มคนโสดมาอยู่เยอะ แต่ตอนนี้กลุ่มครอบครัวมากขึ้น มีชาวญี่ปุ่นในศรีราชาประมาณ 40,000 คน จึงมีการขยายอสังหาฯรองรับชาวญี่ปุ่นมากขึ้น อาทิ โครงการฮาร์โมนิคที่ร่วมกันระหว่างสหพัฒน์กับโตคิว รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าตั้งแต่โรบินสัน อิออน เจปาร์ค ร้านอาหารที่ดึงดูดคนญี่ปุ่น คาราโอเกะสำหรับคนญี่ปุ่นกว่า 300 ร้าน ทำให้ความเป็นญี่ปุ่นสตรองขึ้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ คอนโดฯบูมเร็วเกิน คนลงทุนมาจากต่างถิ่น ตอนนี้อิ่มตัวแล้ว
“ผมมองว่าทิศทางของศรีราชาเหมาะจะรองรับผู้สูงอายุ เพราะศรีราชาเป็นเมืองหลวงของการรักษาพยาบาลในภาคตะวันออกอยู่แล้ว มี รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา พญาไท สมิติเวช ทำให้เกิดซัพพลายหมอใหม่ทุกปี นอกจากนี้ สภาพอากาศ สันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ ตกปลา เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นชอบ”
อสังหาฯขยับเข้าโซนสวนเสือ
ทั้งนี้ การพัฒนาที่พักอาศัยในอำเภอศรีราชา เริ่มจากแนวถนนสุขุมวิท ร่นเข้ามามอเตอร์เวย์สาย 7 ซึ่งเริ่มจะเต็มพื้นที่และทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการคาดการณ์ว่าอีก 1-2 ปี จะขยายเขตเข้าไปถึงโซนสวนเสือศรีราชา ต.หนองค้อ ขณะนี้มีโครงการบ้านธาราปุระ เข้าไปเปิด 1 โครงการ อยู่ติดบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีโครงการก่อสร้างสนามโกคาร์ต และสนามบินขนาดเล็กของ อบต.หนองขาม อ.ศรีราชา
ขณะที่อำเภออื่น ๆ ของชลบุรีก็มีความโดดเด่น สามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกไกล เช่น อ.สัตหีบ ขณะนี้มีการพัฒนาถนน 331 จากปราจีนบุรี มาที่สนามบินอู่ตะเภา โดยอสังหาฯที่ยังเป็นเจ้าตลาดมากว่า 20 ปี คือ กลุ่มนาวีเฮ้าส์ สร้างบ้านจัดสรร จับกลุ่มข้าราชการ หรือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยที่บางแสน และบางพระ ที่มีจุดขายอ่างเก็บน้ำบรรยากาศดีที่กำลังพัฒนาเลนจักรยาน เมื่อรวมกับแหล่งบันเทิงระดับโลกอย่างพัทยา
ศักยภาพเหล่านี้ ทำให้ชลบุรียังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: ประชาชาติออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.