ผู้ว่าฯเมืองชลเผยอีอีซีเกิดแน่ รัฐบาลตั้งเป้า 5 ปี ทุ่มงบฯ 8 แสนล้านบาท กางแผนของบฯอีอีซีปี”61 รวม 6.4 พันล้านบาท เน้นการท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม เร่งศึกษาโครงการอุโมงค์แก้น้ำท่วมพัทยามูลค่า 800 ล้านบาท เตรียมสร้างท่าเทียบเรือเฟอรี่ 2,000 ล้านบาท ฟันธงอีกไม่เกิน 6 เดือน มีการเซ็นสัญญาร่วมทุน PPP หลายโปรเจ็กต์ ขอเอกชนมั่นใจมาลงทุน อีอีซีเกิดแน่
เปิดแผนงบฯปี”61 อีอีซี 6.4 พันล้าน
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการพัฒนาจังหวัดชลบุรีในปี 2561 ยังคงเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ แต่ไม่ทิ้งอุตสาหกรรม เพราะตอนนี้ชลบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 5,000 โรง และ 14 นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องดูแล ซึ่งปีงบประมาณ 2561 นี้ จังหวัดได้จัดทำคำของบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 10 โครงการ งบประมาณ 356 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 6 โครงการ 263.7 ล้านบาท การพัฒนาด้านสังคม 2 โครงการ 11.2 ล้านบาท และการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 81.1 ล้านบาท
ขณะที่แผนงานการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จากงบฯกลางประจำปีงบประมาณ 2561 อยู่ระหว่างนำเสนอสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 6,418 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงและดูแลระบบน้ำเสียพื้นที่พัทยาและ นาเกลือ งบประมาณ 456 ล้านบาท 2.โครงการระบบระบายน้ำด้านทิศตะวันตก
ของถนนสุขุมวิทบริเวณพัทยาเหนือถึงพัทยากลาง งบประมาณ 1,010 ล้านบาท 3.โครงการระบบระบายน้ำด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิทบริเวณพัทยากลางถึงพัทยาใต้ งบประมาณ 1,075 ล้านบาท 4.โครงการระบบระบายน้ำด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิทบริเวณพัทยาใต้ถึงถนนเทพประสิทธิ์ งบประมาณ 1,525 ล้านบาท 5.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ (สะพานบาลีฮาย) งบประมาณ 2,050 ล้านบาท
6.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่าหน้าบ้านเกาะล้าน งบประมาณ 200 ล้านบาท และ 7.โครงการศึกษาออกแบบความเหมาะสมของระบบขนส่งมวลชนเมืองพัทยา (ระบบรางขนาดเบา tram) งบประมาณ 102 ล้านบาท สำหรับแผนงานสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561) จำนวน 1 โครงการ คือโครงการก่อสร้างป้ายตัวอักษร PATTAYA งบประมาณ 14.4 ล้านบาท
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แขวงทางหลวงชนบทชลบุรี ดำเนินกิจกรรมจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานสำรวจออกแบบรายละเอียดถนนสาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองพัทยา งบประมาณ 29 ล้านบาท และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำโครงการศึกษา ออกแบบ และวางผังพื้นที่เฉพาะโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยา เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองพัทยาเป็นระบบ
คาดอีก 6 เดือนเซ็นสัญญา PPP
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีกล่าวว่า ภาพรวมอีอีซีทั้ง 3 จังหวัด รัฐบาลได้ตั้งเป้าลงทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศจะไป 4.0 ได้หรือไม่ แต่วันนี้มีเอกชนหลายรายมาถามตนว่า รัฐบาลจะทำจริงหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นความเคลื่อนไหว ตรงนี้ได้อธิบายไปแล้วว่า ทำจริงแน่นอน แต่ว่าจะให้เห็นรถไฟขึ้นวันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างทำ TOR หาเอกชนมาลงนามในสัญญา แต่มั่นใจว่านับจากนี้ไปภายใน 6 เดือน สิ่งที่จะเห็นคือ จะมีคู่สัญญาในการพัฒนาทั้งท่าเทียบเรือ สนามบิน ระบบราง รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และถนนจะเริ่มเห็นการลงมือแน่นอน
“โครงการนี้รัฐบาลทุ่มสุดตัว และเราเองก็มองว่าเป็นไปได้ อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ว่าโชติช่วงชัชวาลยังสู้อันนี้ไม่ได้ เพราะครั้งนั้นเป็นแค่พลังงาน แต่นี่ครอบคลุมหมดทั้ง 10 อุตสาหกรรมเก่าและใหม่ ซึ่งวันนี้รัฐบาล ส่วนราชการ และภาคเอกชนพยายามทำให้โปร่งใส เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นต้องยึดถือระเบียบกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอน ระยะเวลา จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ จริง ๆ รัฐบาลอยากทำวันนี้พรุ่งนี้ แต่เกรงว่าทำออกมาจะเกิดผลกระทบ เนื่องจากมุมมองของคนที่ไม่เข้าใจ อาจจะพูดได้ว่าเอื้อประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เราต้องการทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่ในเมื่อติดข้อกฎหมายก็ต้องอดทน แม้กระทั่งการร่วมลงทุน PPP ถ้าไม่รัดกุมก็จะเกิดคำถามว่า ทำไมเอื้อบริษัทใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลไม่ได้ผลีผลาม กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดขึ้น”
ดูแลประโยชน์ชาวบ้าน-นักลงทุน
นายภัครธรณ์กล่าวว่า บทบาทจังหวัดกับการผลักดันอีอีซี สำหรับจังหวัดคือการประชาสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่าง ๆ เพราะบางครั้งยังไม่เข้าใจว่าอีอีซีจะทำอะไร แล้วมีผลกระทบอย่างไร จึงเป็นหน้าที่จังหวัดไปให้ความเข้าใจ ย้ำเสมอว่า โครงการอะไรก็ตาม ชาวบ้านต้องได้ประโยชน์และดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะได้รับผลกระทบ แต่ต้องมีทางชดเชย เช่น ท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 ชาวประมงในพื้นที่หาปลาลดลง รายได้อาจจะน้อยลง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลไม่ทิ้ง ช่วยหาทางออก เช่น ลูกหลานประมงไปสมัครงานในการท่าเรือ เพื่อที่ให้ท้องถิ่นทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกันได้ ตรงนี้ชาวบ้านพอใจ
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มองว่าอยู่ที่การบริหารจัดการที่เกิดจากคน เช่น มาบตาพุด โรงงานมีปัญหาปล่อยของเสีย นั่นเพราะไม่บริหารจัดการ เปรียบเหมือนบ้านเรา คนในบ้านตื่นเช้ามาไปฉี่ไปถ่ายหน้าบ้าน ทำอย่างนี้ทุกวันบ้านก็เละเทะ โรงงานก็เช่นกัน มีของเสียแน่นอน แต่ถ้าบริหารจัดการก็ไม่เกิดปัญหา วันนี้จังหวัดชลบุรีได้ขอร้องทุกคนว่า ทำงานด้วยกันต้องทำงานด้วยหลักเหตุผล ไม่ใช่ประท้วงทุกอย่าง”
ในส่วนของนักลงทุนที่กำลังมองหาที่ลงทุน ผู้ว่าฯชลบุรีบอกว่า จังหวัดชลบุรีมีนิคมอุตสาหกรรมที่ยังมีพื้นที่อยู่ หากมาทำในนิคมก็จะง่ายเพราะมีความพร้อมหมดแล้ว เพียงแต่นำเงินมาลงทุนเท่านั้น แต่หากนักลงทุนไม่ว่าไทยหรือต่างชาติที่ไปซื้อที่ดินที่สามารถลงทุนได้ แต่ติดเรื่องผังเมือง เราก็พร้อมจะดูแล ดูรายละเอียดปรับปรุงให้
ขอบคุณข้อมูล : prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.