แม้จะเคลียร์การก่อสร้างช่วง 3.5 กม.จากสถานีกลางดง-ปางอโศก โดยจ้าง “ทล.-กรมทางหลวง” วงเงิน 425 ล้านบาท ก่อสร้างให้รูปแบบจีทูจี เพื่อนำไปสู่การคิกออฟโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีนที่ร่วมกันผลักดันกันมาจะครบปีที่ 3 ในวันที่ 19 ธ.ค. 2560 นี้
ขณะที่ภาคต่อของโครงการต่อจากนี้ ก็ยังน่าติดตามไม่น้อย เมื่อถึงที่สุดแล้ว…โครงการจะเดินหน้าฉลุยไปตลอดรอดฝั่งทั้งเส้นทางหรือไม่
หลัง “รัฐบาล คสช.” ขอใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 มาเปิดทางสะดวกให้ได้เดินหน้า พร้อมมีมติ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” ประทับตราโครงการให้เริ่มสตาร์ตเฟสแรกทันภายในปีนี้ หรือภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.ตามกรอบเวลาที่มาตรา 44 เดดไลน์ไว้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานช่วงแรก 3.5 กม. เป็นงานถมคันดินซึ่งไม่ยากและไม่มีเวนคืนที่ดิน จะสามารถเดินหน้าได้ทันทีเมื่อ ครม.อนุมัติโครงการ
แต่ยังมีงานเร่งด่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นดีไซน์เซ็กเตอร์ เพื่อตรวจสอบทุกอย่างทั้งแบบรายละเอียด ราคา ปริมาณงาน ที่จีนเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงสำรวจพื้นที่ที่จะเวนคืนและรื้อย้ายสิ่งกีดขวาง เพื่อออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ก่อนจะเปิดประมูลก่อสร้าง
สำหรับการเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายในแนวเส้นทางโครงการ ใช้งบประมาณจำนวน 13,069 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 212 ล้านบาท เนื่องจากก่อสร้างบนแนวเส้นทางรถไฟเดิม ส่วนใหญ่เวนคืนในจุดที่เป็นจุดเลี้ยวโค้งและที่ตั้งสถานี ประมาณ 10-15% หรือประมาณ 2,815 ไร่ แยกเป็นสถานีบางซื่อ 818 ไร่ และสถานีชุมทางบ้านภาชี 1,997 ไร่
ที่เหลืออีก 12,857 ล้านบาท จะเป็นค่ารื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคตั้งแต่ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี-แก่งคอย จากการสำรวจเบื้องต้นจะต้องรื้อท่อก๊าซของ ปตท. จากช่วงรังสิต-ภาชี ระยะทางประมาณ 40 กม. และช่วงคลอง 1-คลองพุทรา อยู่ใกล้แนวท่อน้ำมันและก๊าซ ปตท. อาจจะไม่ปลอดภัย จะต้องปรับแบบสร้างห่างออกไปจากแนวเดิม 13 เมตร นอกจากนี้มีเสาไฟฟ้าแรงสูงและท่อประปาที่จะต้องรื้อด้วย
สำหรับรูปแบบโครงสร้างตลอดเส้นทาง จะมีทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น สะพานบก และอุโมงค์ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่เส้นทางพาดผ่าน โดยจะมีทางยกระดับกว่า 100 กม. เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่เขตเมืองจำนวนมาก
โดยทางระดับพื้นมีระยะทางประมาณ 58 กม. สะพานบก 4 กม. และอุโมงค์ช่วงแก่งคอยประมาณ 6.3 กม.เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่เหมืองประทานบัตรปูนซีเมนต์ 3 บริษัท คือ ปูนซิเมนต์ไทย ปูนนครหลวง และปูนทีพีไอฯ
ขอบคุณข้อมูล prachachat
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.