กรมเจ้าท่าเตรียมออกประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นข้อเสนอพร้อมแผนธุรกิจเดินเรือเฟอร์รีเส้นทางเชื่อมอ่าวไทยสองฝั่งในสัปดาห์นี้นำร่องด้านผู้โดยสารก่อน คาด ต.ค. 59 ได้ข้อสรุป กำหนดเปิดเดินเรือภายใน 1 ปีหลังได้รับใบอนุญาต โดยใช้ท่าเรือหัวหินและพัทยาได้ทันที ขณะที่การขนส่งสินค้าการศึกษาสรุป ต.ค. 59 ก่อนเดินหน้าออกแบบและศึกษา EIA ตั้งเป้าเปิดบริการไม่เกินปี 62
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาเส้นทางการเดินเรือเฟอร์รีแห่งใหม่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก พัทยา- ชะอำและหัวหิน ในส่วนของการสร้างท่าเรือเฟอร์รีเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร อยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยขณะนี้กรมเจ้าท่าจะนำการเดินเรือในส่วนของเรือโดยสารออกมาดำเนินก่อน เนื่องจากมีท่าเรือรองรับ สามารถเปิดเส้นทางเดินเรือได้ทันที โดยในสัปดาห์นี้กรมเจ้าท่าจะออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเดินเรือเฟอร์รีขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก โดยจะให้ระยะเวลา 45 วันในการจัดทำแผนข้อเสนอต่างๆ
คาดว่าจะพิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2559 เพื่อออกใบอนุญาตเส้นทางเดินเรือให้ผู้ที่มีข้อเสนอที่ดีที่สุด แผนธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ โดยจะกำหนดระยะเวลาในการเปิดเดินเรือภายใน 1 ปีหลังได้รับใบอนุญาต แต่หากสามารถเปิดเดินเรือได้เร็วกว่าจะได้รับคะแนนเพิ่มในส่วนนี้ คาดว่าจะเปิดเดินเรือได้ปลายปี 2560
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ยื่นข้อเสนอประมาณ 2 ราย โดยแผนธุรกิจที่นำเสนอจะประกอบด้วย จำนวนเรือ จำนวนเที่ยวเรือ อัตราค่าโดยสาร ใช้ท่าเทียบเรือใด ซึ่งปัจจุบันฝั่งตะวันออกมีท่าเรือแหลมบาลีฮาย ส่วนฝั่งตะวันตกมีท่าเรือหัวหิน ที่สามารถให้บริการสำหรับเรือโดยสารได้หากมีการเปิดเส้นทางเดินเรือเพิ่ม ส่วนการเดินเรือในเส้นทางดังกล่าวจะมีการประเมินคุณภาพในการให้บริการ ซึ่งจะกำหนดไว้ในใบอนุญาตเดินเรือ หากไม่สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานสามารถยกเลิกใบอนุญาตได้ ในขณะเดียวกัน กรมฯ จะคุ้มครองไม่ให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาเดินเรือแข่งขัน และควบคุมในเรื่องมาตรฐานเรือ การให้บริการ อัตราค่าโดยสาร และความปลอดภัย
“การที่กรมฯ ออกประกาศเชิญชวนจะทำให้เอกชนเกิดความตื่นตัวมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้า และรถยนต์ไปด้วยนั้นจะต้องใช้เรือที่กินน้ำลึกมากกว่า โดยเรือผู้โดยสารกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งจะเป็นแผนหลัก การพัฒนาเส้นทางการเดินเรือเฟอร์รีแห่งใหม่ด้วยการสร้างท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมโยง” นายศรศักดิ์กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ที่ปรึกษาฯ ได้เสนอพื้นที่ทางเลือกเบื้องต้นในส่วนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก ประกอบด้วย ทางเลือก E-1 ท่าเรือเกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-2 ท่าเรือแหลมฉบัง (A1) ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทางเลือก E-3 ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (ท่าเรือแหลมบาลีฮาย) อ.เมืองพัทยา และทางเลือก E-4 ท่าเรือจุกเสม็ด ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่วนพื้นที่ทางเลือกชายฝั่งด้านตะวันตก ประกอบด้วย ทางเลือก W-1 พื้นที่ปากร่องน้ำ บจก.ชลประทานซีเมนต์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทางเลือก W-2 พื้นที่วัดไทรย้อย ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทางเลือก W-3 ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน เขตตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมแบบฉบับสมบูรณ์ในเดือน ต.ค. 2559 จากนั้นจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือต่อไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) ด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมสองฝั่งอ่าวไทยช่วยย่นระยะทางการขนส่งสินค้า ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ได้มากเนื่องจากจะลดเวลาเดินทางทางถนนจากเดิม 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน รถยนต์ปีละ 220,000 คัน ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 พื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกิดการขยายตัวธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนใหม่ซึ่งจะเริ่มเปิดให้เดินเรือได้ประมาณปี 2560-2562
ขอบคุณข้อมูล: ผู้จัดการออนไลน์
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.